‘พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน’ ออกโรงฟาดแรง ‘คดีแตงโม’ไปกันใหญ่ เจอพวกนักสืบโซเชียล-ผู้รู้บ้างไม่รู้บ้าง-อวดรู้บ้าง คาดเดาเต้าเรื่องบ้าง สร้างข้อสงสัยข้อกังขา ทำตำรวจหมุนติ้วเป็นลูกข่าง ย้ำต้องมีอิสระ-ไม่หลงทาง
วันที่ 13 มี.ค. 2565 พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (อดีต ผบช.ภ.1) โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยแสดงความคิดเห็นถึงคดีการเสียชีวิตของนักแสดงสาว “แตงโม” นิดา พัชรวีระพงษ์ มีเนื้อหาดังนี้… “ไปกันใหญ่แล้ว ..สนุกสนานประดุจละครโทรทัศน์ ก็ไม่ปาน”
คดีการเสียชีวิตของ แตงโม นิดา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน/สอบสวน กำลังหมุนติ้วเป็นลูกข่างไปตามกระแสจากนักสืบโซเชียลบ้าง ผู้รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง อวดรู้บ้าง คาดเดาเต้าเรื่องบ้าง สร้างประเด็น ข้อสงสัย ข้อกังขา ข้อเรียกร้องความสนใจให้เกิดขึ้นในสังคม ต่างๆ นานา บางประเด็นถึงขนาดหมิ่นประมาทผู้เสียชีวิตก็มี
– มีผู้ใหญ่รออยู่ที่โรงแรมริมน้ำ รับงานเอ็นฯ บ้างล่ะ
– 1 ใน 5 บนเรือรับสารภาพแล้ว( แอบได้ยินในห้องน้ำ) บ้างล่ะ
– มีการเสพยาบนเรือบ้างล่ะ
– พล.ต.ต. น แอบให้ข่าว แอบขายข่าวบ้างล่ะ
– ผลการตรวจพิสูจน์ศพ จะทำให้ตำรวจอึ้งบ้างล่ะ
– ชี้นำให้เอาคนบนเรือ ทั้ง 5 คนเข้าเครื่องจับเท็จบ้างล่ะ
พูดประเด็นหลังก่อน เครื่องจับเท็จนะครับไม่ใช่เครื่องซักผ้า ที่อยู่ๆ จะไปเอาใครเข้าเครื่องจับเท็จได้ทันที… มันมีวิธีการ … มันมีกระบวนการ จะต้องแสวงหาพยานหลักฐาน มาเปรียบเทียบ มาพิสูจน์ คดีแรกที่มีการใช้เครื่องจับเท็จเข้ามาพิสูจน์ในทางคดี กระผมได้ทำคดีนั้นด้วยตนเอง ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาถึงเรื่องการใช้เครื่องจับเท็จ คือ คดีหม่อมลูกปลา หรือหม่อมชลาศัย ประเด็นที่จะพิสูจน์ใครเป็นคนชงกาแฟให้ท่านกบ กว่าจะนำไปเข้าเครื่องจับเท็จ จะต้องทำการสืบสวนสอบสวน พิสูจน์ทดลองกันหลายขั้นตอน แสวงหาพยานหลักฐานประกอบจนเห็นว่าควรนำเข้าเครื่องจับเท็จ ต่างกับการเอาผ้าไม่สะอาดเข้าไปซักแล้วออกมาขาวสะอาดนะครับ
ในอดีตไม่ช้าไม่นาน ตัวท่านก็ยังอยู่ เอาแค่สมัยที่พลตำรวจเอกวรรณรัตน์ คชรัตน์ เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม คดีการเสียชีวิตของสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ (นางดาราวดี และเด็กชายเสรี ศรีธนะขัณฑ์) ซึ่งเป็นคดี ที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจ พนักงานสืบสวนสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ใช้ความรู้ความสามารถ ทั้งทางด้านกฎหมาย หลักวิชาการ ประสบการณ์ทำงานที่สร้างสมมา ต่างๆ นานา บรรดามีได้อย่างเต็มที่ ไม่มีผู้มาชี้นำ ไม่มีผู้มาชักจูง อวดอ้าง สร้างประเด็น อวดรู้ ชูประเด็น ไม่ต้องหลงทาง สร้างปัญหาให้กับการสืบสวนสอบสวน ทั้งๆ ที่ผู้ต้องหาเป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่( พลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ) กับพวก ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจอีกกว่า 10 นาย เสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี
กระผมทำสำนวนคดีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งไปเบิกความต่อศาล และศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตจำเลยทั้งหมด ไม่มีนักสืบโซเชียล ผู้รู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง มาชี้นำกำหนดประเด็นทำให้ต้องหลงป่า จนแทบจะหาทางออกไม่เจอ ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งผ่านไปหยก ๆ คดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่บนภูหินเหล็กไฟ แห่งบ้านกกกอก ยุ่งเหยิงกันไปใหญ่ กองทัพนักข่าว ไปปักหลักทำข่าวอยู่เป็นปี สองปี ส่วนลุงพลก็กลายเป็น superstar ลำดับต้นๆของประเทศ ดีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติท่านนี้ ซึ่งรับผิดชอบคดีนั้นพาออกจากป่ามาได้แบบหวุดหวิด ชี้นำกันจนถึงขนาดบางครั้ง มีการทรงเจ้าเข้าผีถามกุมารทอง …. ต่อไปพนักงานสอบสวนคงต้องไปสอบปากคำกุมารทองไว้ประกอบสำนวนแล้วละมั้ง!!!
ไม่เช่นนั้นสังคมจะกล่าวหาว่าพนักงานสอบสวนไม่จริงจังในการรวบรวมพยานหลักฐานหรืออย่างไร? แต่ก่อนแต่ไร พนักงานสืบสวนสอบสวนจะมีอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะการสอบสวนต้องกระทำโดยลับ การให้ข่าวกับสื่อมวลชนในคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเท่าที่จำเป็น สื่อก็นำเสนอต่อสาธารณะเท่าที่ไม่เสียความยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่มีการโต้กันไปโต้กันมา กล่าวหากันไปมา จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามทำนองคลองธรรม ชอบด้วยกฎหมายภายใต้หลักการที่ถูกต้อง … แล้วปัจจุบันล่ะ?????
เมื่อวานนี้ กระผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ตอบ ผู้สื่อข่าวว่ายังไม่ปิดคดีครับๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าสอบสวนเสร็จแล้ว จะสรุปผลในวันศุกร์นี้ (11 มี.ค.65) เป็นเพราะกระแสจึงทำให้ท่านตอบเช่นนั้นหรือไม่ครับ ถ้าใช่!! ท่านอย่าลืมนะครับว่าการสอบสวนต้องกระทำด้วยความ “รวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม”
เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว กล่าวคือสอบจนสิ้นกระแสความแล้ว จะต้องทำความเห็นตามท้องสำนวน คือตามพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 หรือ 141 แล้วแต่กรณี ไม่ใช่เมื่อมีกระแสจึงไม่กล้าปิด ไม่มีกระแสจะกล้าปิด การสอบสวนไม่ใช่โรงลิเก(ปิด-เปิดม่าน) หากมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญก็สามารถรื้อคดีใหม่ได้ ดูตัวอย่างคดีการเสียชีวิตของ ส.ส. ห้างทอง ธรรมวัฒนะ ซึ่งกระผมทำคดีนี้ไว้เกือบ 20 ปีมาแล้ว ( 4 ปีให้หลัง มีพยานหลักฐานใหม่จึงมีการรื้อคดีกันใหม่)
กระผมในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565 จะนำปัญหานี้เสนอในที่ประชุม เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการ แนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงจะต้องร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนด้วยครับ
พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน
กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
12 มีนาคม 2565”