สินธรสเต็กเฮาส์-จีระพันธ์-เนื้อแท้ ความเหมือนที่แตกต่างกับเป้าหมายสุดขอบฟ้า

การสร้างแบรนด์ของสินธรสเต็กเฮาส์ ไก่ย่างจีระพันธ์ จนมาถึงเนื้อแท้ ในความเหมือนทั้ง 3 แบรนด์ต้องการสร้างธุรกิจมุสลิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ แต่การเติบโตของทั้ง 3 แบรนด์มีความแตกต่างกัน ในขณะที่จีระพันธ์กับสินธรสเต็กเฮาส์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยทุนของตัวเอง แต่เนื้อแท้ ต้องการเติบโตเร็วจึงต้องพึ่งพาเงินทุนจากบุคคลอื่น มาช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าได้


แบรนด์สินธรสเต็กส์ ก่อร้างสร้างตัวโดยฮัจยีอิสมาแอล บินซอและห์กับฮัจยะห์โสภา รัตนาภิบาล 2 สามีภรรยา ที่เริ่มต้นจากการเปืดร้านสเต็กเนื้อหน้าหมู่บ้านสินธร พร้อมกับส่งเนื้อตามโรงแรมร้านอาหาร ค่อยๆขยับมาเปิดร้านสเต็กที่ตลาดแฮปปี้แลนด์ ก่อนขยับมาเช่าร้านอาหารแวซายด์ เชิงสะพานลำสาลี มาเป็นภัตตาคารสินธร และเปิดบุปเฟ่ต์ปิ้งย่าง จนได้รับการยอมรับ ธุรกิจเติบใหญ่ พร้อมๆกับการพัฒนาการส่งเนื้อสดไปยังโรงแรมภัตตาคาร และห้างสรรพสินค้าในนามสินธรมีตซัพพลาย ครองตลาดเนื้อทั้งในห้างสรรพสินค้า ในร้านอาหารญี่ปุน เป็นรายการใหญ่ของร้านเนื้อมุสลิม

เมื่อกิจการขยายใหญ่ด้วยการยอมรับของตลาด ทั้งมุสลิมและต่างศาสนิก สินธรสเต็กเฮาส์ จึงตัดสินใจทิ้งพื้นตรงเชิงสะพานลำสาลี ที่เคยกว้างขวางในอดีตที่กลายเป็นคับแคบด้วยปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้น จากโรงทำเนื้อไปสู่โรงงานผลิตเนื้อที่ได้มาตรฐาน ด้วยวงเงินทุนระดับเกือบ 200 ล้านบาท พร้อมกับขยับกิจการภัตตาคารไปสร้างตรงถนนศรีนครินทร์ใหญ่โตโอ่อ่า เป็นทั้งภัตตาคาร บุปเฟ่ต์ และสถานที่จัดงานที่ ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท รองรับลูกค้าได้ระดับ 1,000-2,000 คน และได้มีการส่งมอบการบริหารไปยัง นก บินซอและห์ บุตรชาย

สินธรสเต็กเฮาส์ เป้าหมายต้องการ เป็นแบรนด์มุสลิม ที่เป็นหน้าเป็นตาของสังคมมุสลิม เป็นแลนด์มาร์คที่ทั้งคนมุสลิมและต่างศาสนิกเข้ามา และได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

การดำเนินกิจการของสินธรสเต็กเฮาส์ จนกิจการเติบใหญ่ เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับสูง ล้วนเป็นการลงทุนจากความสำเร็จของกิจการ สะสมกำไรนำมาขยายกิจการ และส่วนหนึ่งกู้ยืมจากสถาบันการเงินปลอดดอกเบี้ย มาขยายกิจการ

จีระพันธ์สืบสานตำนาน 70 ปี

แบรนด์จีระพันธ์ เป็นแบรนด์ข้าวหมกไก่ ไก่ย่าง ซับเนื้อซุบหาง ที่เป็นอาหารของมุสลิม และเชื่อกันว่า มีมุสลิมเท่านั้น ที่ทำอาหารเหล่านี้อร่อย

แบรนด์จีระพันธ์ ก่อตั้งโดยคู่สามีภรรยา นามสกุล’อาดำ’ ชาวพระนครศรีอยุธยา ที่ค่อยๆขยายร้านตากร้านเล็กๆ จนเป็นร้านที่ได้รับการยอมรับ ขายตามงานประจำทั่วประเทศ จนหลายคนนำจีระพันธ์ มาสร้างเป็นแบรนด์ร้านข้างหมกไก่ของตัวเองกระจายในหลายจังหวัด เพราะคิดว่า จีระพันธ์ เป็นสูตรข้าวหมกไก่-ไก่ย่าง ไม่ใช่ชื้อแบรนด์ เหมือนไก่ย่างวิเชียรบุรี หรือไก่ย้างเขาสวนกวาง จนสุดท้าย จีระพันธ์มาปักหลักเป็นร้านอาหารขนาดกลางบนถนนพระราม9 รองรับนักชิมจากทั้งประเทศทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

จีระพันธ์ จึงเป็นแบรนด์ข้าวหมกไก่ ไก่ย่างที่ได้รับการยอมรับจากการพิสูจน์คุณภาพมายาวนานหลายสิบปี

จากข้าวหมกไก้งานวัด งานประจำปี จีระพันธ์ หลังการเข้ามาของบัญญัติ ทิพย์หมัด ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ในฐานะเขยจีระพันธ์ ได้พัฒนาแบรนด์จีระพันธ์ ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น นำจีระพันธ์เข้าสู่ห้างสรรพาสินค้านับ 20 สาขา แต่จากสถานการณ์โควิด-19 สาขาเหล่านี้จึงประสบปัญหา แต่ด้วยแบรนด์ไก่ย่าง ข้าวหมกไก่ที่ได้รับการยอมรับ และตอนหลังได้ออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อทองออกมา จีระพันธ์จึงมีโอกาสร่วมทุนกับปตท. เปิดสาขาไก่ย่าง ข้างหมกไก่ กระจายตามปั้มปตท.

ความสำเร็จของ จีระพันธ์มาจากการรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และได้ขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าของเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงด้วยตัวเองทั้งหมด

เนื้อแท้แบรนด์ใหม่เติบโตเร็ว

เนื้อแท้ แบรนด์ร้านอาหารของบริษัท คอมพานีบีที่ก่อตั้งโดยโต-ตาล วีรชน ศรัทธายิ่ง กับ นภศูล รามบุตร หวังให้เป็นแบรนด์ชั้นนำของมุสลิมที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

โต เป็นอดีตนักร้องนำวงชิลลิ่งฟูล ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นขวัญใจแฟนเพลงวัยรุ่นในยุคกว่า 10 ปีก่อน หลังได้ศึกษาอิสลามอย่างลึกซึ้งแล้ว จึงทิ้งวงการเพลงหันมาดะวะห์หรือเผยแพร่อิสลาม โดยมีตาล อดีนเจ้าหน้าที่ธนาคารเป็นคู่หู ไปไหนไปด้วย ทำอะไรทำด้วย รวมทั้งการก่อตั้ง คอมพานี บี กิจการเนื้อครบวงจร

ในความเห็นของโต มองว่า เนื้อที่มีอยู่ในตลาด คุณภาพยังไม่ถึงตามที่เขาต้องการ จึงต้องการพัฒนาเนื้อของตัวเองโดยนำเข้าพันธุ์มาจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำการตลาด ที่เจ้าของกิจการใหม่จะต้องบอกว่า สินค้าที่มีอยู่ในตลาดไม่ดีพอ ของตัวเองต้องดีกว่า จึงจะสามารถทำการตลาดได้ตามที่ต้องซึ่งในแง่การตลาด ที่อาศัยชื่อเสียงของโต ทำให้กิจการเนื้อของโต-ตาล เติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะ 7 ปี มีร้านภายใต้แบรนด์เนื้อแท้ มีสาขา 7 สาขา มียอดขาย 203 ล้าน ในงบดุลปี 2563 และคาดว่า ในปี 2564 ที่ผ่านไป รายได้ทะลุกว่า 230 ล้าน แต้แม่ยอดขายทะลุเป้า แต่คอมพานีบี กลับมียอดขาดทุนทุกปี ในปี 2563 มียอดขาดทุน 11 ล้าน รวมยอดขาดทุนสะสม 52 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับสินธรสเต็กเฮาส์ และจีระพันธ์ มีข้อแตกต่างกันตรงที่ สินธรฯกับจีระพันธ์ ใช้ทุนของตัวเอง หรือหยิบยืมจากญาติพี่น้องหรืออาจจะกู้ยืมมมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เป็นเจ้าของจะต้องรับผิดชอบในกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น แต่กรณีของ คอมพานี บี ดำเนินกิจการโดยการระดมทุนจากบุคคลอื่นประมาณ 30 คน และใช้เงินกู้บางส่วน โดยโต-ตาล จะถือหุ้นใหญ่ และอาลี ถือเพื่อให้ครบองค์ประกอบของกฎหมาย ก่อนที่ทรัสต์เพื่้อกิจการเงินร่วมลงทุน กองทุนร่วมลงทุนในกิจการSMEs เข้ามาถือหุ้น ส่วนผู้ร่วมทุนอื่น ร่วมทุนเฉพาะโครงการ อาทิ โครวการซื้อวัว โครงการสร้างร้านอาหาร เป็นต้น แต่ทุกคนได้รับเงินปันผลทุกปี โดยจัดทำเป็นบัญชีซื้อขาย ซึ่งแม้ว่า บริษัทงบดุลของบริษัทจะติดลบ แค่ผู้ร่วมทุนได้รับส่วนแบ่งกำไร ในขณะที่ผู้ถือหุ้นไม่ได้รับเงินปันผล แต่ได้รับค่าบริหาร ซึ่งในปี 2563 ใช้เงินค่าบริหารจำนวน 159 ล้านบาท

คอพานีบี ได้จัดทำแผน 5 ปี ตามคำแนะนำของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน กองทุนร่วมลงทุนในกิจการSMEs จัดทำแผน 5 ปี เพื่อนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตีมูลค่าบริษัทที่ประมาณ 900 ล้านบาท และอีก 5 ปี บริษัทจะมีมูลค่า 2,500-4,000 ล้าน และได้เพิ่มทุนจาก 3 ล้านบาท เป็น 111 ล้านบาท ในการประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 16 มกราคม ผู้บริหารคอมพานีบี ประกาศขายหุ้น หรือเปลี่ยนผู้ร่วมทุนเป็นหุ้นสามัญ โดยคิดมูลค่าหุ้นละ 900 ล้านบาท เพื่อนำมาขยายสาขาให้ได้ 23 สาขา ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งตามแผน บริษัทจะมีกำไร 80-100 ล้านบาท แต่ในการสัมมนาผ่านระบบซูมเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ บริษัทได้เปลี่ยนแนวทาง โดยจะยังไม่ขายหุ้นตามที่ได้ระบะไว้ก่อนหน้านี้ แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเดินตามแผนที่วางไว้ให้สำเร็จ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า จะนำเม็ดเงินจากไหนเข้ามา

แบรนด์ร้านอาหารมุสลิมทั้ง 3 แบรนด์ที่กล่าวมา มีเป้าหมายที่จะสร้างร้านอาหารหรือกิจการให้ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์ประสบความสำเร็จในด้านการยอมรับของผู้บริโภค แตกต่างกันที่การลงทุน ที่จีระพันธ์และสินธรฯ ใช้ทุนของตัวเอง ดิ้นรนต่อสู้มายาวนานจึงได้รับการยอมรับ บางครั้งต้องประสบปัญหา อย่างสินธรฯ เคยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการระบาดของโรคซาร์ส หรือจีระพันธ์ ที่ต้องเลิกร้านในห้างสรรพสินค้า ในขณะที่คอมพานีบี แม้จะเผชิญกับภาวะขาดทุน แต่ก็สามารถระดมทุนมาดำเนินกิจการให้เติบโตได้ระดับหนึ่ง และมีโอกาสก้าวต่อไป หากสามารถรักษาคุณภาพและสามารถระดมทุนมาต่อยอดธุรกิจที่ต้องการก้าวเดินให้เร็ว

สินธรฯนั้น ไม่มีเป้าหมายการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ขจีระพันธ์และคอมพานีบี มีเป้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อการเติบโตยิ่งๆขึ้นไป การที่จีระพันธ์ร่วมทุนกับปตท.บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นความรำเร็จอีกก้าวหนึ่งโอกาสที่จะก้าวถึงจุดหมายจึงไม่ไกลมากนัก ส่วนคอมพานีบี อยู่ก้าวเดินต่อไปอยู่ที่การระดมทุน เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน และขยายกิจการให้ได้กำไร 100 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นับเป็นก้าวใหม่ของธุรกิจร้านอาหารมุสลิมกับเป้าหมายไม่แค่ปากซอยหรือหน้ามัสยิดอีกต่อไป แต่ต้องการด้างเติบโตไม่สิ้นสุด