‘การลงทุนมีความเสี่ยง’ เมื่อเนื้อแท้คิดการใหญ่ ขายหุ้นละ 900 ตั้งเป้าบริษัทมูลค่า 4,000 ล้าน

คอมพานีบี ของโต-ตาล เจ้าของ”ร้านเนื้อแท้’ อันโด่งดัง วางแผนการลงทุน 5 ปี ขยาย 12 สาขา ตั้งเป้ายอดขาย 800 ล้านบาท เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจะมีมูลค่า 2,500- 4,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ขายหุ้นละ 900 บาท

ตามวีดิโอที่นำเสนอผ่านยูทูบแบบ Unlisted บริษัทคอมพานี บี ของโต วีรชน ศรัทธายิ่ง กับ ตาล นภศูล รามบุตร จากการประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 16 มกราคม ได้เปิดโฉมใหม่ของบริษัทหลังกองทุนมีการระบุว่า กองทุนเอสเอ็มอี แต่ในรายชื่อที่ขึ้นบนยูทูบระบุว่า กองทุนเอสเอ็มอี ได้เข้ามาตรวจสอบการเงินของบริษัท และสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุน โดยเห็นว่า เป็นบริษัทที่มีอนาคตไกล มีโอกาสที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงวางแผนแต่งตัวเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ(SET)

โดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและเพิ่มกรรมการ จาก 2 คน เป็น 5 คน ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด โดยได้เชิญ กรรมการอิสระเข้ามา 3 คน มีดร.อณัส อมาตยกุล นายแวดือนัน นาแซ ซึ่งถูกระบุว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม และอีกคน นายอนุวัต ชัยกิตติวนิช เป็นตัวแทนของ กองทุนเอสเอ็มอี จำกัด โดยกรรมการผู้มีอำนาจ ยังคงเป็น ตาล นภศูล รามบุตร กับโต วีรชน ศรัทธายิ่ง เหมือนเดิม

บริษัทคอมพานี บี จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 มีทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท แต่มีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน เป็น 111,111,200 บาท (หนึ่งร้อยสิบเอ็ดล้านหนึ่งหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยบาท) โดยนายวีรชน กับนายนภศูล ถือหุ้นคนละ 14,950 หุ้น หุ้นละ 100 บาท และ 485,000 หุ้น นายอาลี ศรัทธายิ่ง ถือ 100 หุ้น ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน กองทุนร่วมลงทุนในกิจการSMEs (กองทุนก่อตั้งโดยบลจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอมซี จำกัด(มหาชน) ถือจำนวน 66,668 หุ้น และ 44,444 หุ้น

บริษัทคอมพานี บี ของโต วีรชน ศรัทธายิ่ง กับ ตาล นภศูล รามบุตร เมื่อปี 2557 โดย โต ระบุว่า ต้องการขายเนื้อที่มีคุณภาพ เพราะเห็นว่า เนื้อที่มีในประเทศยังไม่มีคุณภาพ เริ่มแรกขายเป็นเนื้อสด ก่อนจะพัฒนาเป็นร้านอาหาร ชื่อ เนื้อแท้ เพื่อให้การบริหารวัตถุดิบมีประสิทธิภาพ เพราะได้ให้ฟาร์มนำเข้ามาปีละประมาณ 1,000 ตัว

‘ตอนแรกร่วมทุนกับชาวฝรั่งเศส นำเนื้อโคนมที่หมดอายุการให้นมมาดรายฟิช แต่เจอปัญหาความไม่ซื่อสัตย์จึงถอนตัวออกมา ประกอบกับวัวนมมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงนำเข้าวัวจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นวัวที่ถูกทิ้งมาขุน อีกทั้งปริมาณการขายเนื้อสด มีจำนวนน้อย จึงเปิดร้านเอง ชื่อ เนื้อแท้’ ตาล นภดล กล่าว พร้อมระบุว่า รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2563 มีรายได้ จำนวน 203 ล้านบาท

ด้วยเห็นศักยภาพของบริษัท กองทุนเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลให้ทุนสนับสนุนจัดตั้ง เข้ามาร่วมลงทุน ไม่ใช่การให้กู้ยืมที่ต้องเสียดอกเบี้ย ซึ่งก่อนจะเข้ามาลงทุนทางกองทุนได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เข้ามาตรวจสอบฐานะการเงิน และเห็นว่า เป็นบริษัทที่มีอนาคต มีโอกาสเติบโตเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ เราจึงได้เปลี่ยนแปลงบริษัท เพิ่มกรรมการเป็น 5 คน และทำแผน 5 ปี ขึ้นมา เพื่อให้สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้

ตามแผน 5 ปี โดยประเมินอย่างต่ำสุด บริษัทจะขยายสาขาจาก 7 สาขา ในปี 2564 เป็น 12 สาขาในปี 2565 ขยาย 15 สาขาในปี 2566 จำนวน 18 สาขาในปี 2568 และ 23 สาขาในปี 2569 โดยประมาณการรายได้จาก 205 ล้านในปี 2564 เป็น 250 ล้าน 405 ล้าน 543 ล้าน 640 ล้าน 401 ล้าน และ797 ล้าน มีกำไรประมาณ 80-100 ล้านบาท

นายนภศูล รามบุตร ระบุว่า คอมพานี บี มีผู้ร่วมลงทุนประมาณ 30 คน โดยมุฎอเราะบะฮ์ และมูรอบาฮะห์ ไม่ได้ร่วมถือหุ้นในบริษัท แต่จะลงทุนตามโครงการ อาทิ โครงการซื้อวัว เมื่อซื้อเสร็จก็จะจ่ายเงินให้กับผู้ร่วมทุน หรือการซื้อวัสดุก่อสร้างเพื่อสร้างร้าน ก็จะมีส่วนแบ่งให้รายไตรมาส ประมาณ 7.5% ซึ่งต่อไปจะมีการหักค่าเสื่อมก็จะเหลือประมาณ 4-5%

นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ประธานกรรมการบริษัท เอสเอสพีพี แคปปิตอลล์ จำกัด ระบุว่า คอมปานี บี มีข้อจำกัดคือกู้เงินมาลงทุนไม่ได้ จึงต้องหาคนมาร่วมทุน ซึ่งจากการพิจารณาจากแผน 5 ปี จะมีกำไร 80 ล้านอีก 4-5ปี เป็นจุดที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยความเสี่ยง อาจจะมาจากการขยายสาขาไม่ทัน ไม่ใช่การควบคุมต้นทุนและคนไม่มากินอาหาร ซึ่งหาก 4-5 ปีทำไม่ได้ ก็ขยายเป็น 5-6 ปี กำไร 80 ล้าน ในอีก 5 ปีหุ้นคอมพานี บี เมื่อเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาจากมูลค่าบริษัทอย่างน้อย 2,400 ล้านคือ คูณ 30 เท่าของกำไร แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการระดมทุนประมาณ 25% รวมผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่าประมาณ 4,000 ล้าน มูลค่าบริษัทในอนาคตจึงอยู่ที่ 2,400-4,000 ล้านบาท

ในช่วงสุดท้าย มีการเชิญชวนร่วมลงทุน โดยจะเปิดให้ผู้ร่วมทุนแสดงเจตจำนงค์ว่า จะเปลี่ยนการลงทุนจากเดินเป็นหุ้นสามัญ เพื่อรับผลประโยชน์จากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต

ทั้งนี้ มีข้อความเชิญชวนการลงทุนกับ บริษัท คอมพานี บี จำกัด เนื้อแท้ (บังโต )ไปยังกลุ่มผู้สนใจ มีรายละเอียดระบุว่า
โอกาส !! พี่น้องที่ต้องการลงทุน และร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจร้าน เนื้อแท้ (บังโต ) หมอหมาด x บังโต เนื้อแท้ (คอมพานี บี)
เรามีความฝันร่วมกัน คือ…!! นำพา แบรนด์ บริษัท คอมพานี บี เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2570 อินชาอัลลอฮ์
ในปี 2565 นี้ บริษัทฯ มีแผนขยายร้านเนื้อแท้ 5 สาขา และขยายร้านให้ครบ 23 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศภายในปี 2570 รวมถึงการ สร้างแบรนด์ เนื้อพันละวันให้ติดตลาด และขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่า 980 ล้านบาท และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะมีมูลค่า สูงถึง 1,980 ล้านบาท
ผู้ที่สนใจร่วมลงทุน !!!
บริษัท ฯ เปิดขายหุ้นของบริษัท
ในราคา หุ้นละ 900 บาท
จำนวนทั้งสิ้น 55,555 หุ้น
(กำหนดขั้นต่ำจำนวน 50 หุ้น แต่ไม่จำกัดสูงสุด )
ปิดรับทันที เมื่อจองครบจำนวน
โดยขั้นนตอนการจองหุ้น บริษัท คอมพานี บี จำกัด
1. เข้าร่วมกลุ่มไลน์ผู้สนใจลงทุน เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม
2. อ่านข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทฯ ที่โน๊ต ประกอบด้วย

1.วิดิโอ ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นวิสัยทัศน์และเป้าหมายของบริษัท และข้อมูลการเงินของบริษัท
2.ไฟล์ภาพ เกี่ยวกับข้อมูลธุรกิจและการเงิน ผลตอบแทน
3. กรอกข้อมูล แสดงความจำนง ซื้อหุ้น ตามแบบฟอร์มนี้ ครับ https://forms.gle/dvZPvMoCB8McrZUV6

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ นี้บังโต บังตาล หมอหมาด มีนัดพบปะพูดคุยกับพี่น้องเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมแบบ ละเอียดทุกประเด็นอีกครั้งครับ โดยกลุ่มผู้บริหารจากเดินทางไปชี้แจงข้อมูลที่โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี

วิเคราะห์บริษัทคอมพานีบี

บริษัทคอมพานี บี มีจุดแข้งที่การตลาด ที่โต และตาล เป็นแม่เหล็กสร้างภาพลักษณ์บริษัท และดึงดูดผู้บริโภคเข้าร้าน ส่งผลต่อยอดขาย 203 ล้าน ในปี 2563 และ 169 ล้านบาท ในปี 2562 ตามรายงานงบดุลของบริษัท แต่ปัญหาในการบริหารจัดการ พิจารณาจากยอดขาดทุนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ก่อสร้างบริษัท เมื่อสิ้นสุดปี 2563 มีค่าใช้จ่าย 213 ล้านบาท หรือขาดทุน 10 ล้านบาท รวมยอดขาดทุนทั้งหมด 52 ล้านบาท ซึ่งผู้ตรวจสอบทางการเงิน นายเกรียงศักดิ์ มัสอูดี ระบุว่า ตัวเลขขาดทุน 52.08 ล้านบาท การที่บริษัทจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงขึ้นอยู่กับการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นและการดำเนินงานในอนาคต

นั่นหมายถึงว่า บริษัทจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หากผู้ถือหุ้นไม่มีการใส่เม็ดเงินลงไปในกิจการ ซึ่งห่กพิจารณาฐานะทางการเงินของผู้ถือหุ้นเดิม ที่มีผู้ถือหุ้นหลัก โตกับตาลนั้น ไม่สามารถใส่เม็ดเงินลงไปในบริษัทได้ เป็นเหตุผลว่า จะต้องมีการระดมทุนอย่างเร่งด่วนหรือไม่ จะเห็นได้จากการประชุมที่ปกติจะประชุมหลังงบการเงินผ่านเพื่อแจ้งการจ่ายปันผล แต่กรณีนี้ประชุมก่อนงบการเงินผ่านเพื่อเชิญชวนการเข้าร่วมทุน หรือบริษัทตามที่โตให้ข้อมูลไม่เคยประชุมมา 4-5 ปี แต่ได้เชิญชวนผู้ร่วมทุนเข้าร่วมประชุม

การขายหุ้นสามัญ ไม่ได้มีการขยายความให้ชัดเจนว่า จะนำหุ้นส่วนไหนออกมาขาย ซึ่งตามกฎหมายการเพิ่มทุนจะเพิ่มได้เฉพาะผู้ถือเดิม ไม่สามารถเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ ยกเว้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำได้ก็คือ การขายหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่

การกำหนดมูลค่าหุ้น 900 บาท เป็นตัวเลขที่สูงเกินจริงหรือ โดยตัวเลขหุ้น 900 บาท เป็นตัวเลขในอีก 5 ปี ข้างหน้า การขายหุ้นในราคา 900 บาทมูลค่าในอีก 5 ปี ข้างหน้าในวันนี้ เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นหรือไม่ และเงินจากผู้ถือหุ้นรายใหม่ ไม่ได้เข้าบริษัท แต่จะเข้าไปยังผู้ถือหุ้นเดิม คือ โตกับตาล และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน นั่นเท่าว่า ผู้ถือหุ้นเดิมจะมีกำไรทันที 800 บาท/หุ้น

ในขณะที่บริษัทขาดทุน 52 ล้านบาท การกำหนดมูลค่าหุ้น 900 บาท/หุ้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือ ทำให้ไม่แน่ใจในศักยภาพของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนว่า จะได้พิจารณาได้ถี่ถ้วนหรือไม่

เงินเพิ่มทุน 111 ล้านบาท เมื่อหักเงินขาดทุน 52 ล้านบาท และคาดว่า จะเพิ่มเป็น 60 กว่าล้านบาท ตัวเลขณ สิ้นปี 2564 จะเหลือเม็ดเงินประมาณ 50 ล้านบาทสำหรับการขยายสาขา และการบริหารจัดการ เพียงพอหรือไม่ ที่จะทำให้บริษัทสามารถสร้างผลกำไร

การบริหารกิจตามหลักรอิสลามนั้น ไม่ได้มีข้อห้ามแค่การยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย แต่ยังมีข้อห้ามอีกหลายอย่าง อาทิ สัญญาในสิ่งที่มองไม่เห็น ห้ามซื้อขายในสิ่งที่ยังมองไม่เห็น เช่นการซื้อขายทุเรียนล่วงหน้า เป็นต้น เพราะเมื่อถึงเวลานั้น พระผู้เป็นเจ้าอาจทำให้ทุเรียนไม่ออกผลตามที่คาดการณ์ไว้ อีก 5 ปีข้างหน้าจะมั่นใจได้อย่างไรว่า กิจการจะราบรื่นตลอดไป

2.บริษัทให้ข้อมูลไม่หมดและข้อมูลบางอย่างคลาดเคลื่อนจากความเป็น อาทิ การระบุว่า กองทุนที่เข้าร่วมทุน เป็นกองทุนเอสเอ็มอีที่รัฐใส่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมลงทุนกับSMEs ที่มีศักยภาพ แต่ตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่กองทุน โดยในทะเบียนผู้ถือหุ้นระบุว่า เป็น ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน กองทุนร่วมลงทุนในกิจการSMEs โดยเป็นทรัสต์ที่ก่อตั้งโดยบลจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอมซี จำกัด(มหาชน) ที่กระทรวงการคลังและธนาคารออมสินถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่รัฐบาลจัดตั้งกองทุนโดยตรง

บริษัทระบุว่า มีข้อจำกัด ไม่สามารถกู้เงินได้ เพราะมีปัญหาเรื่องดอกเบี้ย แต่ในรายงานงบการเงินเมื่อปี 2563 มีการระบุว่า บริษัท มีเงินกู้ยืมระยะยาว อยู่จำนวน 146 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นกู้จำนวนหนึ่งอีกส่วนเป็นเงินร่วมทุนตามโครงการที่ผู้ตรวจฯรวมเป็นเงินกู้เพราะมีการจ่ายค่าตอบแทน

ในคลิปวีดิโอ ที่ขึ้นซีจีนายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ว่า เป็นประธานกรรมการบริษัท เอสเอสพีพี แคปปิตอลล์ จำกัด จากการตรวจสอบกับเวบไซด์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่พบ บริษัท เอสเอสพีพี แคปปิตอลล์ จำกัด ในทะเบียนบริษัทจดทะเบียน (ซีจีอาจจะขึ้นชื่อบริษัทผิด)

ใขณะที่มีการระบุว่า นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม เข้ามาเป็นกรรมการ ในฐานะตัวแทนกองทุน แต่กลับขึ้นซีจี ประธานบริษัท

3.บริษัทบริหารตามหลักอิสลามจริงหรือไม่
กรณีผู้ร่วมทุนได้รับส่วนแบ่งผลกำไรที่มีการกำหนดตายตัว 7% ถือเป็นกำไรจากผลดำเนินงานหรือเป็นดอกเบี้ย เพราะในเมื่อบริษัทมีผลประกอบการขาดทุน แต่กลับจ่ายปันผล เงินจำนวนนี้เป็นบัญชีอีกบัญชีหนึ่งหรือไม่ เป็นบัญชีที่อยู่งบดุลบริษัทหรือไม่ เงินจากผู้ร่วมทุนเป็นเงินที่เข้ามาสร้างสภาพคล่องให้บริษัท แต่บริษัทกลับขาดทุนต่อเนื่องทำให้ต้องระดมทุนเข้ามาเพิ่มเติมต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุป แม้ผู้บริหาคอมพานี บี จะมีศักยภาพในการทำการตลาด แต่มีปัญหาการบริหารจัดการภายในส่งผลให้ต้นทุนการบริหารสูง ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง มั่นใจได้อย่างไรว่า หากการบริหารเป็นอย่างนี้ต่อไป บริษัทจะขาดทุนต่อเนื่องต่อไปหรือไม่ และการขายหุ้นราคา 900 บาท/บาท ซึ่งเป็นราคาในอีก 5 ปี ข้างหน้าเหมาะสมหรือไม่ มั่นใจได้อย่างว่า กิจการจะราบรื่น เพราะโต-ตาล อีกด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่นักการศาสนาบรรยายธรรม และเคยเกิดกระแสต่อต้านมาครั้งหนึ่ง มั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่เกิดเหตุการซ้ำและกระแสต่อต้านอาจรุนแรงกว่าเดิม

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเองต้องการธุรกิจมุสลิมเติบโต แต่จะระดมทุนเป็นความเสี่ยง เคยมีปัญหาเกิดขึ้นมาในหลายกรณี ทั้งกรณีแชร์ลูกโซ่ กรณีTMTV ที่จนบัดนี้ยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้อง และจำนวนมากไม่ได้เงินคืน หรือกรณีของ ดีอัมมาน ที่การบริหารตลอด 10 ปี ไม่ได้จ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลย

กรณีของคอมปานบี หรือเนื้อแท้ โต-ตาล นับเป็นบุคคลที่มีต้นทุนสูง หากเกิดปัญหาเหมือนกรณีที่กล่าวมา จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในสังคมมุสลิมอย่างสูง

สิ่งสุดท้ายที่อยากกล่าวก็คือ ใครที่ต้องการนำเม็ดเงินเข้าร่วมลงทุนกับโต-ตาล เพื่อหวังผลกำไรหลายเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็ลงทุนไป แต่ใครไม่ต้องการเสี่ยงก็เก็บเงินสดไว้กับตัวเอง แม้จะมีงอกเงยแต่ก็ไม่เสี่ยง เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง (ข้อความจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) 

เกี่ยวกับผู้เขียน นายสมพร หลงจิ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรณาธิการMtoday อดีตเคยเป็นผู้สื่อข่าวสายหุ้น-ก่ารเงิน การคลัง มีความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นและอ่านงบดุลได้เป็นอย่างดี