รมว.สาธารณสุข แจงปมปลดโควิด พ้น UCEP ย้ำ ผู้ป่วยได้สิทธิ์รักษา รัฐดูแล ไม่ทอดทิ้ง ส่วนผู้มีประกัน หากไม่พอใจบริการของรัฐ สามารถไปรักษาที่ รพ.เอกชนได้
จากกรณีที่จะมีการปลดโรคโควิด 19 ออกจากบริการของ UCEP หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่นั้น ซึ่งต่อมามีความกังวลว่า อาจจะทำให้ผู้ป่วย ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อรักษาโรค
ล่าสุด วันนี้ (14 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือ เราจะนำสิทธิ์ ที่ให้ไว้ตามปกติ มาช่วยในการรักษา หากใครติดโควิด-19 หากมีอาการหนัก สามารถเข้ารักษาฉุกเฉินได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่ สปสช.ดูแล เพราะสิทธิ์บัตรทองใช้ได้ทุกที่อยู่แล้ว แต่บางคนบอกว่า พอออกจาก UCEP ก็หมายถึงรัฐจะไม่ดูแล จะยกเลิกสิทธิ์ทุกอย่าง จะไม่จ่าย ซึ่งตรงนั้น เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง ความเป็นจริง รัฐก็จ่ายตามสิทธิ์ที่ทุกคนมีอยู่ และที่สำคัญ ใครฉุกเฉินหรือมีอาการหนัก เราต้องรักษา ทั้งจากเจ็บป่วยเพราะโควิด 19 หรือ โรคอื่น เราก็ดูแล
“โดยระบบฉุกเฉิน จะดูแลให้ 3 วันหลัง จากนั้นก็จะมีการส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีศักยภาพ และเตียงเพียงพอ เราไม่ได้ไปตัดการดูแล สำหรับผู้มีประกัน หากใครต้องการความสะดวกสบาย สามารถไปใช้โรงพยาบาลเอกชน หากยินดีจะจ่ายส่วนต่าง ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ หากเกรงว่าประกันภัย ประกันสุขภาพ จะไม่ครอบคลุม กรมการแพทย์ สปสช. หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะออกหลักเกณฑ์ขึ้นมา จะมาเลี่ยงบาลีใช้เหตุผลต่างๆ ทำให้ประชาชน ผู้ซื้อประกัน เสียผลประโยชน์ไม่ได้ ทำเช่นนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย” นายอนุทิน กล่าว