พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ “เปิดกรรมการกลางให้สว่าง”

“พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่” เป็นเลขาธิการกอท.ที่ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนการทำงานภายใน เปิดองค์กรให้เป็นที่ยอมรับของสังคมมุสลิมและสังคมภายนอกมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัด มีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะการแก้กฎหมายฮัจย์ และการสร้างศูนย์บำบัดยาเสพติดศรีบอยา

พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2554 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นส.ส.จังหวัดสงขลา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นยุคที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง โดยเข้าไปแทนตำแหน่งของนายพิเชษฐ สถิรชวาล คนใกล้ชิดของ “ทักษิณ ชินวัตร” ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งภายในคณะกรรมการกลางฯ สูง แต่ในวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในยุคถัดมา พล.ต.ต.สุรินทร์ สลายความขัดแย้ง ดึงทุกฝ่ายเข้ามาทำงานในคณะกรรมการกลางฯ สามารถกระจายตำแหน่งให้กับทุกฝ่าย และทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่า เป็นคนประนีประนอม ที่มองผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก
“การเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ กลางฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำงานร่วมกับบุคคลที่หลากหลาย มีที่มาต่างกัน มาจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ มีการศึกษาตั้งแต่ระดับม.6 จนถึงระดับปริญญาเอก จึงต้องอาศัยศิลปะในการทำงานเพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้” เลขาธิการกอท. กล่าว เขากล่าวว่า การเข้ามาเป็นเลขาธิการกอท. ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนการทำงานของคณะกรรมการกลางฯ ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมมุสลิมมากขึ้น จากเดิมที่ถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา คนเข้าไม่ถึง ไม่รู้ว่า ได้ทำงานอะไรบ้าง ก็ได้เปิดกว้างในสังคมตรวจสอบได้ เปิดให้สื่อได้เข้าถึง ซึ่งได้ตั้งนายสมาน งามโขนง เป็นโฆษกคณะกรรมการกลางฯ เพื่อนำผลงานของคณะกรรมการกลางฯ มาเผยแพร่ นำการทำงานของคณะกรรมการกลางฯ แต่ละฝ่ายมาให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งในอดีตคนไม่รู้ว่า คณะกรรมการกลางฯ ทำอะไรบ้าง จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สูง แต่ปัจจุบันมีความเข้าใจกันมากขึ้น


“มีเสียงสะท้อนมาจากภายในอกว่า ในยุคที่ผมเป็นเลขาธิการฯ มีการปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจน” เลขาธิการกอท. ซึ่งกำลังจะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนธันวาคมนี้ กล่าวพล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวว่า ได้ผลักดันการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมุสลิมหรือ

เพื่อแก้ปัญหาของสังคมหลายอย่าง ตัวอย่าง อาทิ การผลักดันให้มีการแก้ปัญหาการเดินทางไปฮัจย์ของพี่น้องมุสลิมที่มีปัญหามาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้เสนอให้คณะกรรมการกลางฯ มีมติแก้ไข และจุฬาราชมนตรี เสนอผ่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งประสบความสำเร็จ หลังจากใช้เวลาแก้ไขนานเกือบ 2 ปี โดยการผลักดันของคุณอนุมัติ อาหมัด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปลี่ยนแปลงหน่วยงานที่ดูแลมาเป็นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ คงจะประกาศออกมาอีกไม่นาน ซึ่งจะช่วยให้บรรดาผู้ไปทำฮัจย์มีความสะดวกสบายมากขึ้น อาทิ จะยกฐานะของจุฬาราช มนตรี เป็นอามิรุ้ลฮัจย์อย่างแท้จริง

“ที่สำคัญราคาจะลดลงและการบริการจะดีขึ้น โดยจะเสนอให้ครม.มีมติยกเลิกการให้การบินไทยผูกขาดการบินรับส่งฮุจยาตให้สายการบินอื่นมีโอกาสเข้ามาประมูลหรือมีส่วนร่วมซึ่งจะช่วยให้ราคาลดลง รวมทั้งแก้ปัญหาที่ฮุจยาตส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนเที่ยวบิน ทำให้อ่อนเพลีย จะบริหารจัดการที่พักใหม่ โดยจะไปเช่าล่วงหน้า ไม่เช่าต่อจากนายหน้าเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งจะประกาศเขตที่พักจากใกล้ฮารอมจนห่างออกไป และระบุราคาให้ชัดเจน แต่จะไม่ไปกำหนดราคา แต่เป็นข้อมูลให้บรรดาฮุจยาตได้พิจารณาว่าจะเลือกเดินทางไปกับบริษัทใด ยืนยันว่า คณะกรรมการกลางฯ ผมหรือแม้กระทั่งคุณอนุมัติจะไม่ได้จัดตั้งบริษัท แต่ที่ดำเนินการก็เพื่อประโยชน์ของพี่น้องมุสลิม” พล.ต.ต.สุรินทร์กล่าว

พล.ต.ต.สุรินทร์กล่าวว่า ผลงานอีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดสร้างศูนย์บำบัดยาเสพติดศรีบอยาที่จังหวัดกระบี่ โดยคณะกรรมการกลางฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 20 ล้านบาทเพื่อดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งไม่มีใครกล้าทำ แต่ที่ทำเพราะต้องการแก้ปัญหาเยาวชนมุสลิมที่มีปัญหาติดยาเสพติดมาก การบำบัดที่ศรีบอยา จะให้หลักศาสนาเข้าไปบำบัด และจะฝึกอาชีพให้ผู้เข้าบำบัดด้วย เพื่อออกมาจะได้สามารถประกอบอาชีพได้ ใช้หลักศาสนานำในการใช้ชีวิต สามารถรองรับคนได้ประมาณ 1,000 คน จะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งฝ่ายตรวจตราฮาลาล ทำหน้าที่ในการคุ้มครองการบริโภคของพี่น้องมุสลิม จากการที่มีผู้ใช้ตราฮาลาลปลอม ใช้ตราฮาลาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งฝ่ายกิจการฮาลาลจะเข้าไปตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมาย โดยอาศัยกฎหมายลิขสิทธิ์ ที่ผ่านมามีการดำเนินการจับกุมหลายราย มีการเปรียบเทียบปรับหลายราย ซึ่งเงินจากค่าปรับก็นำเข้าสู่คณะกรรมการกลางฯ มีหลักฐานสามารถตรวจสอบได้

“เรื่องเงินจากการฮาลาล มีคำถามมาก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงคณะกรรมการกลางฯ ได้รับเงินจากการออกตราฮาลาลผลิตภัณฑ์ละ 500 บาท ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 120,000 ผลิตภัณฑ์ ประมาณปีละ 40 ล้านบาท และบางผลิตภัณฑ์ก็ออกเป็นกลุ่มบริษัท นอกจากนี้แล้วเป็นเงินที่เข้าสู่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งมีค่าตรวจสอบ ค่าที่ปรึกษา เป็นต้น ไม่ได้มากมายอะไร ซึ่งเงินจำนวนนี้ใช้ในการบริหารจัดการภายในคณะกรรมการกลางฯ ส่วนหนึ่งก็นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ อาทิ การช่วยเหลือเป็นทุนการศึกษาให้กับเยาวชนมุสลิม ซึ่งล่าสุด ให้ทุนนักศึกษาไปเรียนที่ตุรกีกว่า 20 คน การช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัย ไม่ว่า บ้านถูกเพลิงไหม้ น้ำท่วมหรือล่าสุดพี่น้องที่ประสบภัยจากเรือล่มที่พระนครศรีอยุธยา” พล.ต.ต.สุรินทร์ให้ข้อมูล

“ที่ผ่านมาได้มีบุคคลบางคน บางกลุ่มได้โจมตีใส่ร้าย ทำให้คณะกรรมการกลางฯ ตัวผม รวมทั้งท่านจุฬาราช มนตรี ให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งได้ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของจุฬาราชมนตรี และของคณะกรรมการกลางฯ” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวนอกจากนี้ ในฐานะเลขาธิการกอท. ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่คนภายนอกที่ไม่เข้าใจอิสลาม พยายามโจมตี ทั้งเรื่องฮัจย์ เรื่องฮาลาล โดยการทำความเข้าใจผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้สังคมจะต้องช่วยกันด้วย โดยไม่ส่งต่อหรือโพสต์ข้อความที่จะสร้างความเสียหาย ความเข้าใจผิดต่อสังคมมุสลิม ต่ออิสลามรวมทั้งแก้ปัญหาการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลไปต่างประเทศ โดยล่าสุดได้นำคณะเดินทางไปเจรจาปัญหาที่อินโดนีเซียไม่ยอมให้สินค้าฮาลาลของไทยผ่านด่านศุลกากร ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ทางอินโดนีเชียยอมให้สินค้าไทยเข้าประเทศทันที

“ขอยืนยันว่าการทำงานของคณะกรรมการกลางฯในยุคของผมได้เปิดกว้าง ให้โอกาสทุกคนได้ทำงานตามความรู้ความสามารถ และเปิดกว้างให้สังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม ให้สื่อสามารถตรวจสอบได้ องค์กรได้รับการยอมรับจากบุคคลภายนอกโดยเฉพาะจากต่างประเทศ และมีผลงานชัดเจน” พล.ต.ต. สุรินทร์ กล่าวในที่สุด


ปูมชีวิต พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่

พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่ เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) [1] เป็นอดีตข้าราชการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ.2549 [2] และได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด จากนั้นก็ได้พ้นจากตำแหน่งหลังจากมีการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จากนั้นจึงเข้าร่วมกับนายแพทย์แวมาฮาดี แวดาโอะ จัดตั้งกลุ่มสัจานุภาพ และเข้าสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พล.ต.สุรินทร์ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงกลับเข้ารับราชการต่อจนเกษียณอายุราชการ

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ.2554 พล.ต.ต.สุรินทร์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่จังหวัดสงขลาอีกครั้ง โดยสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ แข่งขันกับนายอัศวิน สุวิทย์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นน้องชายของนายนาราชา สุวิทย์ อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย ที่ทางพรรคมิได้พิจารณาส่งลงสมัครในครั้งนี้ จึงได้ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งครอบครัวไปสมัครในนามพรรคเพื่อไทย [5] ผลการเลือกตั้ง พล.ต.ต.สุรินทร์ได้รับเลือกตั้งไปในที่สุดพล.ต.ต.สุรินทร์ได้รับการเสนอชื่อจากจุฬาราชมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในสัดส่วนของจุฬาราชมนตรี และที่ประชุมคณะกรรมการกลางฯ ได้มีมติ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ แทนนายพิเชษฐ สถิรชวาล โดยได้ดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน (หมดวาระธันวาคม 2559)


ฟ้องศาล บุคคลหมิ่นจุฬาราชมนตรี

ฟ้องศาล บุคคลหมิ่นจุฬาราชมนตรี-กรรมการกลางฯ เลขาธิการกอท. ระบุ รับไม่ได้กล่าหาผู้นำด้วยคำรุนแรง ลั่นพิสูจน์กันในศาล เตือนแชร์ต่อมีความผิดด้วย

พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ทนายความ ยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับนายชาติ จินดาพล คนสนิทอดีตเลขาธิการกอท.ตามที่คณะกรรมการกลางฯ มีมติเห็นชอบใน

การประชุมเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาโดยยื่นฟ้องดำเนินคดี กรณีการโพสต์หมิ่นจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ตามความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 326 ใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง มาตรา 328 ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรฯ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมไม่ว่า บางส่วนหรือทั้งหมด หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

“กรณีของจุฬาราชมนตรี เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ที่มีการใช้ถ้อยคำหมิ่นประมาท ไม่ให้เกียรติจุฬาราชมนตรี ซึ่งถือเป็นประมุขของมุสลิมในประเทศไทย ทำให้เกิดความเข้าใจผิด การดูถูกเกลียดชัง” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าว เลขาธิการกอท. กล่าวว่า สาเหตุการโพสต์มาจากข้อมูลการรับเช็คจากบริษัท ซีพีเอฟ จำกัด(มหาชน) ที่มีการละเมิดเครื่องหมายฮาลาลซึ่งฝ่ายตรวจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางฯ ได้ดำเนินการจับกุมเมื่อปี 2555 และมีการตกลงค่าปรับจำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งในครั้งแรก บริษัท ซีพี จ่ายเช็คมูลค่า 10 ล้าน 2 ใบ ในนามสำนักงานเลขาธิการกอท. ซึ่งเป็นการออกเช็คที่ไม่ถูกต้อง จึงได้ส่งคืนและให้บริษัทส่งเช็คมาใหม่ในนามคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งบริษัทได้ส่งเช็คมาในนามคณะกรรมการกลางฯ จำนวน 20 ล้านบาท แต่ได้มีการใช้เงินอย่างไม่โปร่งใสตรวจสอบไม่ได้ เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าทุจริต

“เงินจากฝ่ายตรวจการฮาลาลฯ หรือจากฮาลาลเข้าบัญชีคณะกรรมการกลางฯ ถูกต้องทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ บัญชีธนาคารของคณะกรรมการกลางฯ มี 3 บัญชี คือ บัญชีธ.กรุงเทพ ธ.ธนาคารไทยพาณิชย์ และเมื่อมีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จึงได้เปิดบัญชีกับธ.อิสลาม มีการใช้จ่ายเพื่อการกุศลจำนวนมาก อาทิ การสร้างสถานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่ศรีบอยา จ.กระบี่ ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท การช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัย น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือกรณีเรือล่ม รวมทั้งให้ทุนการศึกษาเยาวชน

ซึ่งล่าสุดให้ทุนเด็กเดินทางไปตุรกี 22 คน มีการจัดสรรให้มัสยิดในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการฯ แห่งละ 50,000 บาท จัดสรรให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นต้น การใข้จ่ายสามารถตรวจสอบได้” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าว เลขาธิการกอท. กล่าวว่า การจ่ายเช็คเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 แต่เพิ่งนำมาโพสต์บิดเบือน เพื่อหวังดิสเครดิตตน เพราะตนใกล้หมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการกอท. อาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง

“ฝากเตือนไปยังพี่น้องมุสลิมที่ได้รับข้อความกรณีอย่าส่ง หรือแชร์ต่อ เพราะจะทำให้มีความเข้าใจผิดในตัวจุฬาราชมนตรี ซึ่งท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อยากให้ช่วยกันรักษาภาพลักษณ์ของจุฬาราชมนตรี และท่านที่แชร์หรือต่ออาจมีโดนดำเนินคดีข้อหานำเข้าคอมพิวเตอร์ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จด้วย” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวในที่สุด

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับที่ 59 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2559