ส.ว.สมชาย แนะแก้ ปัญหา “สภาล่ม”ยื่น ป.ป.ช.เอาผิด ส.ส.ขัด “จริยธรรม”

“สมชาย แสวงการ” ชี้โพรง ให้ ปชช. ยื่น ปปช. เอาผิด ฟันจริยธรรม กลุ่ม ส.ส. ฝ่ายค้าน ไม่แสดงตน เป็นเหตุ ทำสภาล่ม เย้ย งานนี้หลุดเก้าอี้เป็นร้อย

วันที่ 11 ก.พ. นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีปัญหา ฝ่ายค้านขอตรวจสอบองค์ประชุมของรัฐบาล จนเกิดปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง ระบุว่า …ปัญหาสภาล่ม17ครั้งแก้ไม่ยาก ไม่ต้องยุบสภาแต่ต้องแก้เด็ดขาด ถึงคราวประชาชนต้องจัดหนักจัดเต็ม “หน้าที่ของสมาชิกสภาคือการเข้าประชุมเพื่อทำหน้าที่การที่สมาชิกเข้าอยู่ในที่ประชุมแล้วไม่แสดงตนเพื่อไม่ให้นับตนเป็นองค์ประชุม เป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้สภาเสียหาย ทำไมไม่ผิด157 ทำไมไม่ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง”

ลูกจ้างที่ลาป่วยเป็นนิจ ลากิจเป็นประจำ ขาดงานเป็นอาจิณ นายจ้างยังต้องไล่ออก?เหตุใดนายจ้างตัวจริงประชาชนผู้เสียภาษีไม่คิดไล่ออกผู้แทนที่ชอบล่มสภากันบ้าง? ผมเคยเสนอทางออกเรื่องนี้แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นมาแล้ว3ข้อคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญข้อบังคับและพระราชกฤษฎีกาดีๆไปแล้วแต่ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากเพราะ“เสือย่อมไม่กินเนื้อเสือแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน”ฝากบอกนายกลุงตู่ว่าไม่ต้องคิดยุบสภาตามที่คนเดินเกมให้เสียงบประมาณเลือกตั้งใหม่กันอยู่ยาวเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปลายปีไปเลยครับ แค่นายจ้างตัวจริง หาคนรวบรวมข้อมูลนำข้อกฎหมายร้องต่อปปช.ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเอาผิดจริยธรรมร้ายแรงและส่งดำเนินคดีต่อศาลฎีกาก็พอครับ โดยมีข้อกฎหมายและแนวทางดำเนินการ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1)ยื่นคำร้องต่อสภา เพื่อตรวจสอบรายชื่อและพฤติกรรมว่ามีใครบ้าง ที่ไม่ร่วมประชุมไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมหรือลงมติ เป็นประจำ จนถือเป็นการจงใจทำให้สภาผู้แทนราษฎรล่ม17ครั้ง และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายหรือขัดขวางให้สภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติได้

2)ตรวจสอบและสรุปการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นว่า เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 234(1) และมาตรา 235 (1) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 (1) และมาตรา 87 และมีความผิดร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ.2561 หมวด 1 ข้อ 7 หมวด 2 ข้อ 12 ข้อ 17 ข้อ21 และข้อ22 และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรราษฎรและกรรมาธิการ พศ 2563 ข้อ 4 ข้อ7 ข้อ8 ข้อ14 หรือไม่

3)ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ หากปปช.มีมติชี้มูลความผิด ปปชต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัยต่อไป

4)เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องไว้ สส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที !!! และหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง สส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วย

งานนี้อาจมีสส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือหลุดเก้าอี้เว้นวรรคการเมือง10ปีเป็นร้อย ปล : ไม่สงวนสิทธิที่ประชาชนผู้เสียภาษีที่เป็นนายจ้างโดยตรงของสสสสวและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะนำข้อกฎหมายและข้อเสนอแนะนี้ไปศึกษาหรือยื่นร้องต่อ คณะกรรมการป.ป.ช.โดยตรง