“นกอันนา” เที่ยวบินปฐมฤกษ์ นำ76นักท่องเที่ยว สัมผัส’เบตง’ เมืองในฝัน

ชาวอำเภอเบตง เฮลั่น เที่ยวบินเช่าเหมาลำปฐมฤกษ์ ชื่อ “นกอันนา” ของสายการบินนกแอร์ แตะพื้นรันเวย์ นำผู้โดยสาร 76 คนมาเยือนพื้นที่ปลายด้ามขวาน หลังท่าอากาศยานเบตงได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนฯ

วันที่ 29 ม.ค.2565 เป็นวันแรกที่ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ได้มีโอกาสต้อนรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Chartered Flight) ของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD6260 จากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ถึงท่าอากาศยานเบตง เมื่อเวลา 11.10 น. ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 76 คน โดยใช้เครื่องบินแบบใบพัด Q-400 ทะเบียน HS-DQA นามว่า “นกอันนา” มาให้บริการ โดยเป็นเที่ยวบินการกุศลแบบเช่าเหมาลำ ของ สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน และ ชมรมคนเบตงในกรุงเทพมหานคร ในวาระเปิดทดลองการบินกิจการบินสาธารณะเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ในการนี้ชาวอำเภอเบตง ส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนชาวเบตง ได้ออกมาต้อนรับผู้โดยสารกลุ่มแรกและชมภาพประวัติศาสตร์กันอย่างเนืองแน่น ซึ่งเที่ยวบินนี้ เป็นเที่ยวบินแบบไปกลับวันเดียว กำหนดกลับกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานเบตง เพิ่งได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) นับจากนี้จะสามารถให้บริการแบบสาธารณะได้ตามกฎหมาย ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้อนุมัติเส้นทางการบินแบบประจำ หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ให้กับสายการบินนกแอร์ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ จากที่ผ่านมาเปิดให้บริการเที่ยวบินของราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคลที่สนใจทำการบินเท่านั้น เนื่องจากไม่มีใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ

สำหรับท่าอากาศยานเบตง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 920 ไร่ ใน ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ห่างจากตัวอำเภอยะลา 14 กิโลเมตร โดยมีกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าของโครงการ ก่อสร้างมาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2558 แล้วเสร็จ 30 ก.ย. 2563 ใช้วงเงินก่อสร้างกว่า 1,900 ล้านบาท ประกอบด้วยทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและ อื่นๆ ขนาดทางวิ่ง กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบินขนาด 94 x 180 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด ATR72 ได้ 3 ลำในเวลาเดียวกัน และก่อสร้างอาคารที่พัก ผู้โดยสารและอาคารประกอบ พื้นที่รวม 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง