รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบ”อลงกรณ์”ล่องใต้หนุน เป็นประธานปล่อย กุ้งก้ามกราม คืนแหล่งน้ำ เผย กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบาย ผลักดัน จ.ชุมพร เป็นฮับผลไม้ภาคใต้ มั่นใจรถ “ไฟจีน-ลาว” จะ ช่วยเพิ่มการส่งออกปีนี้
วันที่ 23 ม.ค.2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีปล่อยกุ้งก้ามกรามและสัตว์น้ำ คืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 1ล้าน 5แสนตัว ณ คลองนาคราช ต.ตากแดด อ.เมือง จ.ชุมพร จัดโดยกรมประมง เพื่อเพิ่มแหล่งอาหาร สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมง และ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19รวมทั้ง เป็นการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำและ คืนความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำ ทำให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติของระบบนิเวศน์โดยมีนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นำเยี่ยมชมบูธพร้อมทั้งบรรยายสรุปสถานการณ์การทำประมงในพื้นที่โดยมีนายสราวุธ อ่อนละมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชุมพร เขต2 นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นายอิสรพงษ์ มากอำไพ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชุมพร เขต1 นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอเมือง สมาขิกสภาอบจ. นายกอบต.และกำนันตำบลตากแดด ร่วมด้วยส่วนราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน อสม. ครู นักเรียน ในพื้นที่ให้การต้อนรับ พร้อมกันนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรยังได้ติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภครวมทั้งโครงการป้องกันอุทกภัยของจังหวัดชุมพรซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆโดยใช้งบประมาณกว่า3พันล้านบาทโดยจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี2567 เพื่อแกัปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากหลายปีติดต่อกันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับชุมพรตลอดมาซึ่งส.ส.มีส่วนสำคัญในการประสานงานอย่างต่อเนื่องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวนายอลงกรณ์กล่าวว่า ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงมากมีรายได้ต่อหัวของประชากรกว่า 2 แสนบาทต่อปีอยู่ในกลุ่มท็อป 20 ของประเทศ โดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ปี 2565 เป็นกว่า 1 แสนล้านบาทโดยมีภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญซึ่งมีพืชเศรษฐกิจหลักทำรายได้ให้จังหวัดเช่นทุเรียน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าวและและกาแฟโรบัสต้ารวมทั้งเศรษฐกิจภาคบริการด้านการท่องเที่ยวจึงได้วางนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชุมพรให้ก้าวสู่เป้าหมายใหม่ของการพัฒนาอย่างน้อยใน3ด้าน1.นโยบายพัฒนาชุมพรเป็นมหานครผลไม้ภาคใต้เช่นเดียวกับจันทบุรีในภาคตะวันออก ซึ่งการส่งออกผลไม้ของไทยกำลังเติบโดยอย่างรวดเร็วในปี2564เพียง11เดือนเราส่งออกผลไม้คิดเป็นมูลค่า1.5แสนล้านสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นปีแรกที่ทุเรียนส่งออกได้เกิน1แสนล้านบาทซึ่งชุมพรเป็นจังหวัดที่ผลิตทุเรียนได้มากที่สุดเป็นอันดับ2ของประเทศโดยเฉพาะการเปิดเส้นทางขนส่งผลไม้ทางรถไฟสายจีน-ลาวจะเพิ่มการส่งออกผลไม้ได้มากขึ้นในปีนี้ จึงต้องเร่งยกระดับการพัฒนาชุมพรเป็นฮับผลไม้ภาคใต้
2.นโยบายพัฒนาชุมพรเป็นฮับกาแฟโรบัสต้าของประเทศโดยสร้างแบรนด์สร้างมูลค่ากาแฟโรบัสต้าที่ชุมพรผลิตได้มากเป็นอันดับ1สู่กาแฟมูลค่าสูงทั้งตลาดในและต่างประเทศ เพราะตลาดกาแฟกำลังขยายตัวเติบโตทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง จะพัฒนาคู่ขนานกับกาแฟอะราบิก้าของภาคเหนือ
3.นโยบายพัฒนาชุมพรเป็นประตูท่องเที่ยวเกตเวย์ทะเลใต้ เพราะนอกจากชุมพรเป็นประตูสู่ภาคใต้แล้วยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางทะเลมีท่าเรือบริการเชื่อมเกาะและหมู่เกาะในอ่าวไทยเช่นเกาะสมุยและหมู่เกาะอ่างทองโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติชุมพรมีเกาะกว่า40เกาะ เช่นเกาะทะลุ เกาะงามใหญ่ เกาะง่ามน้อย เกาะลังกาจิว ถือเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เราต้องเตรียมความพร้อมรองรับโอกาสทันทีที่วิกฤติโควิดคลี่คลายและนักท่องเที่ยวกลับมาทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุมพรทุกคนพร้อมสนับสนุนจังหวัดชุมพรในทุกด้านเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน หลังจากนั้นนายอลงกรณ์ และคณะได้ลงพื้นที่สำรวจศักยภาพของชุมพรในฐานะฮับผลไม้ภาคใต้และติดตามสถานการณ์การส่งออกทุเรียนปลายฤดู ณ ตลาดกลางผักและผลไม้ตลาดมรกต ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพรโดยพบปะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรคและเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูการผลิตต่อไป พร้อมกันนี้ เข้าเยี่ยมชม ผู้ประกอบการห้องเย็น ครบวงจร ขนาดใหญ่ มาตรฐานส่งออก ซึ่งมีการนำระบบไนโตรเจนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยืดอายุการจัดเก็บ และรักษารสชาติ ทุเรียนผลสด รวมถึงทุเรียนเนื้อแกะเมล็ดด้วยไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิลบ190องศาจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาทุเรียนเน่าเสียหายเพราะการขนส่งที่ติดขัดของด่านต่างๆจากมาตรการZero Covidของจีน นอกจากนี้ยังสามารถเก็บสต็อกทุเรียนและผลไม้อื่นๆที่ทะลักออกมามากพร้อมกันโดยแช่แข็งเก็บไว้ได้นานถึง18เดือนเพื่อรอระบายสู่ตลาดในและต่างประเทศทั้งยังคงสภาพความสดอร่อยได้เกือบเทียบเท่าผลสดอีกด้วย.