“ไอติม” ชูไอเดีย 4ท.ปฏิรูปกองทัพ ทหาร “เท่าทัน-เท่าเทียม” ประชาชน

“ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ เสนอไอเดีย ‘4ท’ ปฏิรูปกองทัพ ในวันกองทัพไทย ให้ ท.ทหาร เท่าทัน และ เท่าเทียม กับ พลเรือน ขับเคลื่อนกองทัพให้เป็นประโยนชน์ต่อประชาชน

วันที่ 19 ม.ค. 2565 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า  #4ท ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ ในวันกองทัพไทย: ให้ ท.ทหาร เท่าทัน และ เท่าเทียม

การกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย อาจเป็นด้วยเหตุผลของการ “รำลึกอดีต” เมื่อกว่า 400 ปีก่อน ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี (การต่อสู้บนหลังช้าง) กับพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี แต่ผมคิดว่าอีกวาระหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญในวันกองทัพไทย คือการ “คิดไปถึงอนาคต” เกี่ยวกับการ #ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องผลักดัน ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ เป็นมากกว่าประเด็นด้านโครงสร้างทางการเมือง แต่ยังเกี่ยวข้องกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาลของหน่วยงานรัฐ ในมุมมองของผม เป้าหมายในการปฏิรูปกองทัพ ควรเป็นการทำให้ “ท.ทหาร เท่าทัน และ เท่าเทียม” โดยแบ่งเป็น 4 ด้านหลัก หรือ #4ท

1. #ประชาชนเท่าทันกองทัพ
หลักการ “รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ” เป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้กองทัพถูกขับเคลื่อนในทิศทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อความปลอดภัยของประชาชน มิใช่อยู่ในร่มเงาอิทธิพลของกลุ่มทุนหรือกลุ่มทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
1.1 ทำให้กองทัพเป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้ – เช่น การมีผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman) หรือตัวแทนพลเรือนที่เป็นอิสระจากกองทัพและทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนรัฐสภาหรือประชาชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของกองทัพจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยอาจครอบคลุมไปถึง (1) การตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือการกระทำที่ขัดหลักกองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน (2) การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ รายได้ของกองทัพ และโครงการจัดซื้อจัดจ้าง (3) การพิจารณาและสืบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร
1.2 ทำให้ทหารแยกออกจากการเมือง – เช่น เพิ่มตัวแทนพลเรือนเข้าไปในสภากลาโหม (ปัจจุบันทหารครองเก้าอี้ทั้งหมด ยกเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม) หรือ การกำหนดระยะเวลาให้นายทหารที่เพิ่งปลดประจำการ ไม่สามารถเข้าทำงานการเมืองได้ทันที (เช่น ที่สหรัฐฯ ต้องปลดมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี จึงจะเป็นรัฐมนตรีได้) รวมถึงวางมาตรการป้องกันรัฐประหาร ซึ่งผมเห็นว่าจำเป็นต้องทำคู่ขนานทั้งทางกฎหมาย (เช่น เปิดให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำรัฐประหาร) และ ทางวัฒนธรรมความคิด (เช่น สร้างค่านิยมต่อต้านรัฐประหาร) เพราะการเข้ามาแทรกแซงการเมืองนี่เอง เป็นสาเหตุหลักทำให้กองทัพและทหารอาชีพเสื่อมเสียชื่อเสียง

2. #กองทัพเท่าทันโลก
การเสริมให้กองทัพตามทันโลก อาจต้องอาศัยกองทัพที่มีลักษณะ “แคบ” แต่ “ลึก”
2.1 “แคบ” เพราะรูปแบบ “ความมั่นคง” ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก และขยายบริเวณออกไปนอกเหนือสนามรบ ที่หน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญกว่าควรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก (เช่น สงครามการค้า อาชญากรรมไซเบอร์ ภัยพิบัติ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่โรคระบาด) กองทัพจึงไม่ควรผูกขาดภารกิจด้าน “ความมั่นคง” และควรปรับขนาดกำลังพลให้มีความเหมาะสมกับภารกิจที่อาจแคบลงกว่าเดิม
2.2 “ลึก” คือการทำให้กองทัพปฏิบัติภารกิจที่แคบลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเชี่ยวชาญและทักษะที่จำเป็นมากขึ้น (เช่น ความเข้าใจทางเทคโนโลยีด้านการทหาร ทักษะการเจรจากับกองทัพ) การปฏิรูปการศึกษาของทหารหรือหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยให้ทันสมัย (เช่น เพิ่มตัวเลือกให้หลากหลาย เพิ่มเวลาศึกษาในมหาวิทยาลัยพลเรือน) หรือ จัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนาการวิจัย ส่วนเรื่องยุทโธปกรณ์ หากจะมีการซื้อ จะต้อง (1) ซื้อเท่าที่จำเป็น ซื้อในจังหวะที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับความจำเป็นด้านอื่น ซื้อผ่านกระบวนการที่โปร่งใส (2) ต้องชี้แจงกับประชาชนผู้เสียภาษีได้ว่ามีความจำเป็นด้านความมั่นคงอย่างไร และ (3) ต้องนำมาสู่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมและด้วยเป้าหมายที่ถูกตั้งไว้อย่างชัดเจน (เช่น การผลิตในประเทศเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือหากซื้อจากต่างประเทศ ควรต้องดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชย หรือ Offset Policy อาทิ วางเงื่อนไขให้ซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการจ้างงานในอัตราที่ตั้งเป้า)

3. #ทหารเท่ากับคน
ทหาร ไม่ควรถืออภิสิทธิ์เหนือประชาชน แต่ก็ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเหมือนประชาชนเช่นกัน
3.1 อาชีพทหาร = อาชีพอื่นๆ – การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเพื่อปรับเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด (ในยามที่ไม่มีสงคราม) เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติกับทุกอาชีพอย่างเท่าเทียมกัน การที่ทหารเกณฑ์หลายคนถูกนำไปใช้ในงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (เช่น ยอดผี ทหารรับใช้) สะท้อนให้เห็นว่าตัวเลข 100,000 คน/ปี ที่กองทัพใช้เป็นเหตุผลในการบังคับคนมาเป็นทหารเพิ่มเติมจากยอดคนที่สมัครใจเข้ามา สูงเกินความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การที่กองทัพไม่ได้รับอภิสิทธิ์ในการบังคับคนมาเป็นทหาร จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญให้กองทัพต้องปรับตัว (เช่น ปรับค่าตอบแทน เอาจริงเอาจังกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดในค่ายทหาร) เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำให้คนอยากเข้าไปทำงาน

3.2 ทหารทำผิด = คนทั่วไปทำผิด – หากไม่นับการกระทำความผิดตามกฎระเบียบเฉพาะของทหารเอง (ซึ่งถกเถียงได้ว่าเหมาะสมหรือไม่) ทหารในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ใช้มาตรฐานเดียวกันกับประชาชนคนอื่นๆ สำหรับฐานความผิดเดียวกัน โดยแนวทางหนึ่งที่สมควรพิจารณา คือการปฏิรูปหรือลดขอบเขตอำนาจของศาลทหาร ให้ทหารที่กระทำความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายซึ่งบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป (เช่น ลักทรัพย์ ฆ่าคนตาย) ต้องขึ้นศาลพลเรือน เหมือนกับประชาชนทั่วไป

4. #ทหารทุกคนเท่ากัน
ทหารทุกคน แม้มีหน้าที่หรือภารกิจที่ต่างกัน ต้องมีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน
4.1 ลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการและความก้าวหน้าทางอาชีพของทหาร – ปัจจุบัน พลทหาร กับ ข้าราชการทหาร มีความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านสวัสดิการ (เช่น พลทหารไม่ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมครอบครัว เหมือนที่ข้าราชการทหารได้) และด้านเส้นทางอาชีพ (เช่น ระยะเวลาและโอกาสในการเลื่อนขั้น มีความแตกต่างกันมากระหว่างพลทหารที่ต้องการเติบโตในกองทัพ กับ นักเรียนทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อย)
4.2 คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทหารทุกคน – กองทัพต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในค่าย ไม่ว่าจะต่อทหารที่ถูกเกณฑ์ หรือ ทหารที่สมัครใจเข้าไป ผ่านกลไกต่างๆ ที่เราเคยเห็นว่ามีการใช้อย่างประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น การจัดตั้งผู้ตรวจการกองทัพ หรือ จัดหลักสูตรอบรมและฝึกฝนบุคลากรทหารเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อลดความรุนแรงทั้งทางร่างกาย (เช่น การธำรงวินัยที่นำมาสู่อันตรายต่อร่างกาย) และ ทางจิตใจ (เช่น การโจมตีทางวาจากับบุคคลเพศทางเลือก)

ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ ไม่ได้เริ่มต้นจากทัศนคติที่มองกองทัพเป็นศัตรู หากเริ่มต้นจากการมองเห็นประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศจะได้รับ จากการทำให้กองทัพมีลักษณะทั้ง “เท่าทัน” และ “เท่าเทียม” ตาม 4 องค์ประกอบที่กล่าวข้างต้น หากกองทัพยึดมั่นในผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเหนือสิ่งอื่นใดตามคำที่ปรากฏในป้ายหน้าค่ายทหาร กองทัพไม่ควรปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปตนเอง เพื่อก้าวเป็นสถาบันที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นของขวัญ “วันกองทัพไทย” ที่คนไทยต้องการและรอคอยมายาวนาน