เลขาฯ คปภ.ลุ้นระทึกยันสู้เต็มที่หลังบริษัทประกันฟ้องศาลปกครอง ปมคำสั่งห้ามเลิกประกันโควิดเจอ-จ่ายจบ ชี้หวังลอยแพ 10 ล้านกรมธรรม์ สร้างบรรทัดฐานผิด ทำลายความเชื่อมั่นระบบประกันภัย
วันที่ 14 ม.ค. 2565 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวน คดีบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม ยื่นฟ้อง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณี คปภ. ออกคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 ก.ค. 2564 ห้ามบริษัทประกัน ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โควิด- 19 เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวก่อนเข้าร่วมการไต่สวน ยืนยันพร้อมสู้ตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน เพราะหากมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ประชาชนกว่า 10 ล้านคนที่ทำประกันภัยแบบเจอจ่ายจบ จะถูกลอยแพ คปภ. พร้อมสู้เต็มที่สุดความสามารถ และตั้งข้อสังเกต หากศาลยอมให้มีการเพิกถอนหรือบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบบรรทัดฐานตรงนี้จะขยายผล บริษัทอื่นๆในการอ้างเหตุความเสี่ยงที่มีมากขึ้นในการโยนภาระกลับไปให้ประชาชนผู้เอาประกันภัย
“อยากถามกลับไปว่าเมื่อบริษัทรับความเสี่ยง เมื่อความเสี่ยงเปลี่ยนไปแต่ละบริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ ผมขอถามว่าแล้วเราจะทำประกันภัยเพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์ ระบบประกันภัยจะถูกทำลายความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจำเป็นต้องต่อสู้ ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนเท่านั้นแต่เป็นการต่อสู้ ไม่ให้เกิดบรรทัดฐานที่ผิดพลาด ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่อ้างเหตุความเสี่ยงเปลี่ยนไป แล้วไปรอนสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ที่มีความผูกพันกับประชาชน ซึ่งสิ่งที่เขาควรจะทำคือยุติการรับประกันรายใหม่ แล้วทำการเพิ่มทุนหรือแก้ปัญหาซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถที่จะมีมาตรการในการเยียวยาบริษัทได้ โดยที่ไม่เป็นการรอนสิทธิของประชาชน ดังนั้นจะชี้ให้ศาลเห็นว่ามีทางเลือกเยอะแยะ แต่บริษัทไม่ใช้ความพยายามแต่ยืนยันที่จะใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ผมถือว่าเรื่องนี้มีความร้ายแรง” เลขาธิการ คปภ. กล่าว พร้อมย้ำว่าหากคดีนี้ ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว คปภ.จะใช้สิทธิอุทธรณ์คดีไปถึงศาลปกครองสูงสุด หากศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดี ศปภ.จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดด้วยกลไกทางกฎหมาย