“อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะ ประชุม คณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงาน สั่ง รฟท.ของบกลาง ออกแบบสะพานข้ามน้ำโขงแห่งที่ 2
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงาน โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งนำไปสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงคมนาคม นำโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมหารือเพื่อพิจารณาแผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน และได้เห็นชอบแผนการดำเนินงาน และเห็นชอบให้แต่งตั้นคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความก้าวหน้าสถานะการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบการจัดทำ Framework Agreement การขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีนโดยการเชื่อมต่อการเดินทางข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ซึ่งในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น ให้ดำเนินการเจรจาบนพื้นฐานที่ไทย ลาว และจีนมีความเกี่ยวข้องและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจยกระดับให้เป็นบันทึกข้อตกลงที่มีความผูกพันเพิ่มเติม ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้มีบัญชาให้ รฟท. ดำเนินการของบกลางเพื่อออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 และเร่งดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไปนอกจากนี้ ยังให้แต่งตั้งองค์ประกอบของคณะกรรมการเพิ่มเติม ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาแนวทางการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย – ลาว และจีน ต่อไปเมื่อสภาวะการณ์ของประเทศผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว คาดการณ์ว่ามูลค่าทางการค้าที่บริเวณด่านหนองคาย ผ่านโครงข่ายรถไฟไทย-ลาว-จีน จะสร้างมูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้น
สำหรับโครงการรถไฟจีน – ลาว เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกประเทศจีน มายัง สปป.ลาว และประเทศไทย เส้นทางรถไฟดังกล่าวมีความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยสมบูรณ์จากจีน ลาวมายังไทยแล้ว จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางได้ถึง ร้อยละ 30 – 50 โดยใน 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในส่วนนี้ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมมีการบริหารจัดการรองรับการขนส่ง เพื่อใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่จะร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มีเสถียรภาพและยั่งยืนโดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว รวมการนำเข้า – ส่งออกของประเทศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า จากการส่งออกที่มากกว่าการนำเข้าถึง 6 เท่า แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศรวมถึงการเดินทางของประชาชน แต่การค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรหนองคาย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งของไทย-ลาว-จีน พบว่า ในปี 2564 การส่งออกสินค้ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 กว่าร้อยละ 23 โดยเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 ล้านบาท ในขณะที่การนำเข้าปี 2564 ลดลงเพียงเล็กน้อยประมาณ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นลดลงร้อยละ 8 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน พร้อมจัดทำแผนการขนส่งสินค้า เพื่อกำกับ ติดตามเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางรถไฟ พร้อมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
จากสถิติการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคายในช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 กับช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 (ช่วงที่มีการเปิดการให้บริการรถไฟลาว-จีน) พบว่ามีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.64 พันล้านบาท เป็น 6.91 พันล้านบาท มูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากมีรถไฟลาว – จีนเกิดขึ้น ซึ่งเร็วกว่าช่องทางอื่น 1 วัน และมีค่าขนส่งถูกกว่าประมาณร้อยละ 25 โดยมีการขนส่งสินค้าหลายชนิดผ่านทางรถไฟจีน-ลาว มายังไทย ได้แก่ ผักผลไม้สดแช่เย็น สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์เครื่องจักร เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนรถยนต์ ยางพาราและไม้แปรรูป การเตรียมความพร้อม และการส่งเสริมของภาครัฐ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้ประกอบการจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันต่อไป.