ย่างเข้าศักราชใหม่ ปีเสือดุ จับตาราคาหมูแพงระยับ กระทบค่าครองชีพคนไทย

94

จับตาค่าครองชีพ ส่งท้ายปี2564 ก้าวข้ามสู่ปี เสือดุ 2565 ท่ามกลางสถานการณ์หมูแพงระยับ ทะลุกว่า 200 บาท ต่อ กก. ส่งผลให้ร้านอาหารทยอยปรับราคา หลายฝ่ายเร่งระดมแก้ไข

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มลุกลามไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวนี้แล้ว 1,145 ราย เป็นโจทย์ท้าทายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตคนไทย แต่ยังมีข่าวร้ายที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินชีวิตประจำวันในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู จะพุ่งกระฉูดแพงทะลุ กว่า 200 บาทต่อกิโล

กระทบผลถึงร้านอาหารบุฟเฟต์เชนขนาดใหญ่ชื่อดังหลายแห่ง ประกาศปรับขึ้นราคาในต้นปี 2565 แล้ว อะไรที่ไม่ได้เห็นก็จะได้เห็น ก็เป็นคำกล่าวที่ใช้ได้กับราคาหมูเนื้อแดงที่ราคาในช่วงปลายปีเดือน พ.ย.- ธ.ค. อยู่ที่ราว 160-200 บาท ต่อกิโลกรัม

การประชุมร่วมของกรมการค้าภายใน กรมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมทั้งผู้เลี้ยงสุกร เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา นายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่า สาเหตุที่ราคามีการปรับสูงขึ้น มาจากปริมาณการผลิตที่ลดลง ปกติปริมาณหมูขุนในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านตัว แต่ในปี 2564 ได้ปรับลดลงเหลือ 19 ล้านตัว

สาเหตุมาจากผู้เลี้ยงขาดความมั่นใจและแรงจูงใจในการนำหมูเข้าเลี้ยง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณความต้องการบริโภคหมูในประเทศลดลง ราคาไม่จูงใจ และต้นทุนค่าบริหารจัดการฟาร์มในการควบคุมโรคและต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น อีกสาเหตุที่สำคัญคืออัตราการสูญเสียจากการเลี้ยง เนื่องจากการระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร และโรคอหิวาต์สุกรตลอดจนมาตรการในการลดความเสี่ยงโดยจำกัดจำนวนการเลี้ยง ทำให้ปริมาณหมูขุนลดลงประมาณ 15%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ได้ขอให้กรมปศุสัตว์ไปเร่งดำเนินการคู่ขนานทั้งในด้านวัคซีนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้เกษตรกร เพื่อให้มีปริมาณสุกรกลับเข้ามาสู่ระบบโดยเร็ว ส่วนในด้านผู้บริโภคได้สั่งการให้กรมการค้าภายในขยายการดำเนินการโครงการพาณิชย์ลดราคา

ในส่วนเสียงสะท้อนจากฟาร์มหมู นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ระบุว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลายเป็นต้นทุนสะสมที่เพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือหายไปจากระบบแล้วมากกว่า 50% จากผลกระทบของโรคในหมูและภาวะขาดทุนสะสม ทำให้ต้องหยุดเลี้ยงหมูปล่อยเล้าว่างเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่เกษตรกรที่ยังเดินหน้าเลี้ยงต่อไปต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าว