รมว. ยุติธรรม สั่ง ยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต และ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เยียวยาเหยื่อมือปืนเหี้ยม ย้อนจ่อยิงพลเมืองดีที่อาสาเข้าให้ปากคำเป็นพยานในชั้นสอบสวน เบื้องต้นทายาทจะได้รับ1.6แสนบาท
จากกรณี คนร้ายบุกยิงผู้ขับรถจักรยานยนต์ พลเมืองดีที่อาสาเข้าให้ปากคำ เป็นพยานในคดีที่ผู้ก่อเหตุยิงคู่กรณีเสียชีวิต 2 ศพ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้กระทำผิดอยู่ระหว่างการประกันตัว และมาก่อเหตุซ้ำอีก โดยเหตุเกิดที่จังหวัดภูเก็ต นั้น
ล่าสุดวานนี้ (18 ธ.ค.64) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีพลเมืองดีซึ่งอาสาเข้าเป็นพยานและได้ถูกคนร้ายผู้ก่อเหตุ มีความแค้น กลับมายิงจนเสียชีวิตนั้น ตนมีความห่วงใยครอบครัวผู้เสียชีวิต จึงได้สั่งการให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดภูเก็ตเร่งช่วยเหลือเยียวยาตามแนวทาง “ยุติธรรมสร้างสุข ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน” เพื่อให้ครอบครัวผู้เสียหายได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างเสมอภาค และเท่าเทียมด้านนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่ากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ประสานงานกับ นายพยุงศักดิ์ กาฬมิค ผอ.สำนักงานยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ความช่วยเหลือใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ในฐานะที่เป็นพลเมืองดี และตกเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ประจำจังหวัดภูเก็ต ได้มีการประชุม ในครั้งที่ 12/2564 วันที่ 14 ธันวาคม 2564 พิจารณาให้ความ ช่วยเหลือแก่ทายาทของผู้เสียชีวิต ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ดังนี้
(1) ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย (กระทำตนเป็นพลเมืองดี) จำนวน 100,000 บาท
(2) ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท
(3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวน 40,000 บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 160,000 บาท
สำหรับส่วนที่สอง การที่ผู้เสียชีวิตได้อาสามาเป็นพยานในคดีอาญา จะได้รับการช่วยเหลือ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 กรณีพยานได้รับความเสียหายแก่ชีวิต จะมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งได้มอบหมายให้ สำนักงานคุ้มครองพยาน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมเอกสาร พยานหลักฐาน เพื่อนำเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนความเสียหายแก่พยานในคดีอาญาและผู้ใกล้ชิด โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และหน่วยอื่นๆ ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาด้วยกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย หรือพยานในคดีอาญา เพื่ออำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือติดต่อได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77