“ชัชชาติ” ยินดีคนเก่ง ร่วมชิงผู้ว่า ออกตัวโพลที่ 1 เพราะเปิดตัวก่อน ชูนโยบาย 4 ด้าน “เมืองน่าอยู่-เทคโนฯ-สิ่งแวดล้อม-ฟื้นศก.” ขอคุย BTS ค่ารถไฟฟ้า ไม่เกิน 35 บาท ชี้ เมื่อคู่แข็งเยอะ เป็นทางเลือกให้ คนกรุงเทพฯ
วันที่ 11 ธ.ค.2564 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้สมัครอิสระ ชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าที่ผ่านได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำนโยบาย ตอนนี้รอว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไร แต่หากจะมีการเลือกตั้งในปี 2566 ตนก็ยังไม่รู้ว่าจะรอไหวหรือไม่ ส่วนทีมงานยังไม่มีการวางตัว แต่มีทีมที่ปรึกษามาช่วยทำข้อมูลมากกว่า เช่น ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ มาช่วย think tank
ส่วนเรื่องผู้สมัครเป็นเรื่องที่น่ายินดี มีคนเก่งๆมาเสนอตัว การจะมีตัวเลือกที่ดีได้ ต้องมีตัวเลือกมากๆ คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็เป็นคนเก่ง ท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ก็มีผลงานที่ดี ท่านผู้ว่าฯอัศวินท่านก็รู้งานเพราะทำมานาน และก็รออีกหลายพรรคที่จะเปิดตัว ผมมองว่า เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องความสวยงามของระบบประชาธิปไตย ที่มีตัวให้เลือก และแข่งขันกันที่นโยบาย “เรื่องของโพลที่ให้ผมเป็นอันดับหนึ่งนั้น ก็อย่าไปยึดถือมาก เพราะว่าผมเปิดตัวมาก่อน ชื่อก็เลยยังค้างๆอยู่ รอคนอื่นเขาเปิดตัว เราก็คงลดลง และคงจะใกล้เคียงกันมากขึ้น”
เมื่อถามว่า มีพรรคใหญ่ๆมาจีบบ้างหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่มีเพราะผมออกตัวไปแล้วว่าจะลงในนามอิสระ จึงไม่มีใครเข้ามาจีบ ถ้าเกิดลงในนามพรรค คนอาจจะเบื่อการเมืองก็ได้ ผมว่าการเมืองระดับท้องถิ่น ไม่ใช่เรื่องเชิงนโยบายระดับแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเชิงปฎิบัติมากกว่า บางทีท้องถิ่นอาจจะไม่ต้องเป็นแบบพรรคก็ได้ ดูตัวอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ก็มีคนที่เป็นอิสระเข้ามามาก
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับนโยบายเน้น 4 ด้าน ภายใต้สโลแกน เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ประกอบด้วย 1. People เรื่องคน เน้นระบบเส้นเลือดฝอยและคุณภาพชีวิต 2. Digital เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดขั้นตอน 3.Green เรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ขยะ ควันพิษ ฝุ่น 4. Economy เรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมืองอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจ ตอนนี้เศรษฐกิจมีปัญหาเมืองต้องมาช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจของคนให้มากขึ้น พยายามสร้างโอกาสคน ลดขั้นตอน หนุนให้เศรษฐกิจฟื้นคืนมา
“เรื่องปากท้องเราก็ต้องดูแล ปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งโควิดมา รัฐคงต้องเข้าไปดูในสิ่งที่ช่วยเหลือได้ ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ดูแลตัวเองมากขึ้น แต่กทม.เองคงไม่สามารถเอาเงินไปแจกได้ เป็นหน้าที่รัฐบาลกลางที่จะต้องทำโครงการต่างๆ กทม.จะไปช่วยดูแลอำนวยความสะดวก เช่น ที่ทำมาหากิน ทำยังไงให้ประชาชนที่เข้าไปไม่ถึงมีที่ค้าขาย จัดบริเวณให้มีการค้าขาย หรือลดกฎระเบียบต่างๆ ช่วยเรื่องความปลอดภัยจากโควิด
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องค่าเดินทางของประชาชนก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่บางทีกทม.ก็ทำไม่ได้ เช่น เรื่องของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ค่าโดยสารยังคาราคาซังอยู่ ต้องเอาให้จบ ให้ประชาชนได้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องการเดินทางต้องให้ประชาชนสะดวกขึ้น ในระยะยาวต้องอาจจะพิจารณาเพิ่มระบบฟีดเดอร์ กทม.อาจจะต้องทำเอง เช่น
ขออนุญาตเดินรถเมล์เอง เสริมในส่วนที่ไม่มันไม่สะดวก ทำตั๋วร่วม ตั๋ว 1 ใบขึ้นรถเมล์ได้หลายครั้ง เพื่อให้ประชาชนสะดวก ซึ่งรถไฟฟ้าระบบเส้นเลือดใหญ่ รฟม.ทำอยู่แล้ว แต่เส้นเลือดฝอยที่เติมเต็มเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องมาดู “กทม.กำกับดูแลรถไฟฟ้าบีทีเอส ปัญหาคือสัญญาที่ผูกพัน ต้องพยายามเจรจาบีทีเอสให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าดูตามต้นทุนแล้ว ผมว่าค่าโดยสารน่าจะไม่เกิน 35 บาท”