รมว.ท่องเที่ยวฯ เป็นประธานในงานเสวนา หัวข้อ “Reopening Thailand Tourism: Is This The Light at The End of The Tunnel” ชี้ ไทยเป็นชาติแรก ที่กระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการผลักดัน โครงการ “ภูเก็ตแซนบ็อกซ์” จนประสบความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 12.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในงานเสวนาระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน หัวข้อ “Reopening Thailand Tourism: Is This The Light at The End of The Tunnel” ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยโอกานี้ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติ ที่ได้มาร่วมงานเสวนาของ สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้สมาชิกของสภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย ถึงเป้าหมาย และแผนกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวภายหลังการเปิดประเทศ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวของไทยตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวทางปฏิบัติ ที่ดีที่สุด ระหว่างผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวของไทยอย่างยั่งยืน ตนมั่นใจว่าที่ผ่านมาทุกท่านได้รับทราบถึงความพยายามของไทยในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักลง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องหันกลับมาทบทวน และปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในการดําเนินการท่องเที่ยวให้สอดรับกับวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New Normal ท่ามกลางความพยายาม ในการปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ ในสถานการณ์ ที่ไม่ปกติประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่ตัดสินใจที่จะริเริ่มฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผ่านการจัดทําโครงการนําร่อง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไข และมาตรการสาธารณสุขแบบใหม่ ในวิกฤตที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ก็ยังคงมีแสงสว่างอยู่บ้าง ความสําเร็จของการจัดทําโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ได้จุดประกายแห่งความหวังให้ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมทั้งกระตุ้นให้ประเทศไทย ต่อยอดแนวทางดังกล่าวไปสู่การเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยมากถึง 100,000 คน เสียงตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นประจักษ์พยานแห่งความสําเร็จ ของการเดินหน้าเปิดประเทศของไทย และตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยดําเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวอย่างถูกทางแล้วแม้ว่าในปัจจุบันการท่องเที่ยวของประเทศไทยรวมถึงทุกประเทศทั่วโลก ยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับวิถีชีวิต และความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การเดินหน้าฟื้นฟูการท่องเที่ยวยังคงเป็นสิ่งจําเป็น ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศดําเนินต่อไปได้ ประเทศไทย เองก็ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และพร้อมที่จะเผชิญหน้าเพื่อรับมือกับความท้าทายในการนําพาการท่องเที่ยวไทยไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิมอย่างยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะพลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยสู่ปฐมบทใหม่ ผ่านแนวคิด “Amazing Thailand, Amazing New Chapters” ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดําเนินธุรกิจการท่องเที่ยว โดยมุ่งเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในไทย ผ่านการเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง ภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยด้านสุขอนามัยที่สอดรับ กับวิถีใหม่ New Normal“อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีใหม่ดังกล่าวจะเกิดขึ้น ไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การเสวนาในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐของไทย และภาคเอกชนของสหราชอาณาจักร เพื่อกําหนดทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแนวใหม่ของไทยให้บรรลุเป้าหมายเชิงคุณภาพ ทั้งในประเด็นการเสริมสร้างความปลอดภัย และความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในมิติต่างๆระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรต่อไป” รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าว