“รสนา โตสิตระกูล” อดีต ส.ว. กทม. วอน ส.ส. พิจารณาเสนอกฎหมายแก้อัตราภาษีน้ำมันในฐานะ “สินค้าจำเป็น” ไม่ใช่ “สินค้าฟุ่มเฟือย” ชี้ ผู้ใช้ดีเซลถูกขูดรีดภาษีถึง 20% อัตราเท่ากับภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่มีกำไรเกิน 3 ล้านบาท
วันที่ 19 พ.ย. 2564 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กทม. โพสต์เฟซบุ๊กว่า … รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 7 ถึง 20% น้ำมันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าจำเป็น!? รัฐบาลยืนกระต่ายขาเดียว พร้อมท้ารบกับข้อเรียกร้องตรึงราคาดีเซลที่ 25 บาท เป็นเวลา 1 ปี ของสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย โดยนายกฯจะนำรถทหาร 3,700 คัน มาขนสินค้า แต่ไม่ยอมปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5.99 บาท/ลิตร แม้แต่สลึงเดียว
รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อ้างเงินจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นรายได้หลักของรัฐบาล เป็นเรื่องน่าตกใจที่รัฐมนตรีคลังออกมายอมรับว่า ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในระบบการจัดเก็บภาษีและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง ใช่หรือไม่
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เก็บร้อยละ 7 ก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นภาษีที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย คนจน เพราะมีรายได้เท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายภาษีสินค้าเท่ากัน แต่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำหนักเข้าไปอีก เพราะดีเซล บี7 เป็นน้ำมันพื้นฐานของการขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภคที่มีปริมาณใช้สูงสุดถึงวันละประมาณ 37 ล้านลิตร จึงส่งผลต่อราคาสินค้า และค่าครองชีพของคนไทย
ปัจจุบันรัฐบาลเก็บภาษีดีเซล บี7 ถึงราวร้อยละ 20-21 สูงกว่าแวตที่เก็บร้อยละ 7 เท่ากับการซื้อน้ำมันดีเซล 100 บาท ประชาชนต้องจ่ายภาษีถึงราว 20 บาท ในขณะที่ภาษีกำไรสุทธิของนิติบุคคล ต้องเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไปจึงเก็บภาษีในอัตรา 20% แสดงว่าคนใช้น้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนเพื่อการขนส่งและประกอบธุรกิจถูกรีดภาษีถึงราว 20% นี่เฉพาะภาษีดีเซล บี7 เท่านั้น ยังไม่คิดรวมภาษีเทศบาลและภาษีแวต ที่ต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีก
มักมีคำกล่าวอ้างแก้ตัวอยู่เนืองๆ ว่า น้ำมันเป็นของฟุ่มเฟือย ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าเลยต้องขายแพงเพื่อไม่ให้ประชาชนใช้ฟุ่มเฟือย ประชาชนเวลานี้จะมีใครไปขับรถกินลมแบบสมัยก่อน ? แค่จะหากินให้ครบ 3 มื้อสำหรับครอบครัวจำนวนมากในเวลานี้ยังเป็นไปได้ยากเลย ตรรกะที่ยกมาอ้างน่าจะเลิกไปได้แล้วดิฉันอยากขอให้ผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหลายในรัฐสภาที่เป็นผู้แทนที่ประชาชนเลือกท่านขึ้นมาควรช่วยกันพิจารณาเสนอกฎหมายในการกำหนดอัตราภาษีน้ำมันในฐานะ “สินค้าจำเป็น” สำหรับการครองชีพของประชาชน และการประกอบการในภาคการผลิตว่าน้ำมัน “ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย” รัฐบาลควรมีสิทธิเก็บภาษีน้ำมันในอัตราเท่าไรจึงจะเหมาะสม และไม่กระทบต่อค่าครองชีพที่ประชาชนส่วนใหญ่พอรับได้ ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้
ประชาชนไม่มีที่พึ่งอื่นอีกแล้ว นอกจากเรียกร้องบรรดาผู้แทนราษฎรช่วยทำหน้าที่เพราะรัฐบาลไม่ยอมเจรจาหรือพิจารณาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วน ส.ส ทุกพรรคการเมืองยังเงียบเฉยอยู่ จึงขอให้ท่านทั้งหลายช่วยกันรู้ร้อนรู้หนาวมาแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันแพงของชาวบ้านบ้าง จะได้ไหม
อย่าปล่อยให้เกิดการงัดข้อ ไม่ยอมเจรจาหาทางออกของปัญหาระหว่างรัฐบาล และสมาพันธ์รถบรรทุก ที่ฝ่ายหนึ่งประกาศยกระดับการหยุดวิ่ง ส่วนรัฐบาลก็มีทิฐิจะเอารถทหารมาขนส่งสินค้าแทน โดยมีประชาชนเป็นตัวประกัน และไม่ได้รับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่อไป ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลต้องถอยตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกสัก 1 ก้าว ก่อนที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะบานปลายมากไปกว่านี้