“ไอติม” ขอโทษแนวร่วม แก้รธน.ทำให้ผิดหวัง ชี้ ได้แจงสภาเต็มที่แล้ว ลั่นลุยต่อแน่

“ไอติม” เปิดใจ ขอโทษแนวร่วม กว่าแสนราย ที่ลงชื่อสนับสนุน ร่างแก้ไข รธน.ภาคประชาชน ชี้ตลอด16ชม.ในสภา พยามเต็มที่แล้ว ลั่น จะเดินหน้าต่อไป เพื่อนำประเทศไทยออกจากวิกฤตการเมืองนี้ให้ได้

วันที่ 18 พ.ย. 2564 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” แกนนำกลุ่ม Re-Solution ผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Parit Wacharasindhu มีเนื้อหาดังนี้… “ผมขอใช้พื้นที่นี้ ขอบคุณและขอโทษจากใจจริงอีกครั้ง ต่อประชาชน 135,247 คน ที่ร่วมเดินทางกับเราในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ #รื้อระบอบประยุทธ์ และหลายคนที่ติดตามการอภิปรายและคาดหวังอยากให้ร่างฉบับนี้ผ่าน

ตลอด 16 ชั่วโมงของกระบวนการชี้แจงในรัฐสภา เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบในการนำร่างนี้ไปสู่ประชามติกับคนไทย 60 กว่าล้านคนทั่วประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าภารกิจนี้ยังไม่สำเร็จ ผมยังยืนยันว่าทุกข้อเสนอในร่าง ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่สุดโต่ง และไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพียงแต่ต้องการสร้างระบบการเมืองที่ “ควร” จะเป็น กล่าวคือ

ค. คืนศักดิ์ศรีแก่สถาบันทางการเมือง ให้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชน เพราะการรักษาศรัทธาในสถาบันทางการเมืองใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการหยุดอยู่กับที่ แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสถาบันนั้นก้าวเดินไปพร้อมกับเข็มนาฬิกาที่หมุนไปตามความต้องการของประชาชน
ว. ไว้ใจประชาชน ให้เขามีสิทธิเลือกผู้นำของตนเอง โดยไม่ต้องมี ส.ว. 250 คนมาร่วมเลือกด้วย ไว้วางใจให้เขาเลือกนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองมานำเสนอกับเขาได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าเลือกไปแล้วก็ทำให้เป็นจริงไม่ได้ เพราะมียุทธศาสตร์ชาติที่ล็อกไว้แล้วล่วงหน้า 20 ปี และไว้วางใจประชาชน ให้เขาแก้ทุกวิกฤติทางการเมืองกันเองผ่านกลไกรัฐสภา โดยไม่ต้องให้ทหารเข้ามายึดอำนาจและอ้างว่าเพื่อจะมาแก้ปัญหาให้พวกเขา

ร. ระบบที่เป็นกลาง ที่ – ทุกคน ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นใคร มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดทิศทางและอนาคตของประเทศ – ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน มีโอกาสเท่าเทียมกันในการแข่งขันเพื่อเข้ามาบริหารประเทศ – ทุกคน ไม่ว่าจะมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นโดยศาลและองค์กรอิสระที่เป็นกลางจริง – ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในประเทศนี้ อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายทุกฉบับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญยันพระราชบัญญัติ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน

การแก้รัฐธรรมนูญยังต้องเดินหน้าต่อไป และผมเชื่อว่าตราบใดที่รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีปัญหาทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ยังไม่ได้รับการแก้ไขในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจและกติกาที่ไม่เป็นธรรม ประเทศไทยก็จะไม่สามารถออกจากวิกฤติทางการเมืองในรอบนี้ได้