“สมชาย ” จี้ใจดำถาม “หมอชลน่าน” เคยลงมติเห็นชอบระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่คราวนี้กลับมาเปลี่ยนเป็นจะรับหลักการ ส.ส.เขต 350 ปาร์ตี้ลิสต์ 150 ระบบบัตรหนึ่งใบ ทำอย่างนี้มีความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ คาใจร่างฉบับภาคปชช.จ้องแต่เซ็ตซีโร่ศาล-องค์กรอิสระ-ปปช.หวัง เคลียร์คดีค้างอยู่จำนวนมาก แฉแผนลึกจ้องเขี่ยทิ้งวุฒิสภาเพื่อหวังกำจัดก้างขวางคอเปิดทางสะดวกแก้หมวด 1-2
วันที่ 16 พ.ย.2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภาร่วมกัน ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และประชาชนเข้าชื่อ จำนวน 1.3 แสนคน เป็นผู้เสนอ โดยเมื่อเวลา 19.35 น. นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า ดีใจภาคประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมา การแก้ไขอาจจะไม่เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ก็ดีกว่าไปเสนอกันในโซเชียล หรือเดินไปบนท้องถนน แม้ประชาชนกว่า 1.35 แสนรายชื่อเสนอขอแก้ไข แต่ประชาชนกว่า 16 ล้านเสียงที่ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้มาเช่นกัน เราจำเป็นต้องยึดหลักที่ประชาชนให้มติมา
จึงอยากถาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ได้อภิปรายต่อร่างแก้ไขฉบับประชาชนว่าเห็นชอบและจะรับหลักการวาระ1 แต่ท่านได้แก้ไขและรับหลักการบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 ปาร์ตี้ลิสต์ 100 แล้วจะมารับหลักการบัตรใบเดียว เปลี่ยนเป็นส.ส.เขต 350 ปาร์ตี้ลิสต์ 150 บัตรหนึ่งใบ ทำอย่างนี้ชอบหรือครับ และร่างแก้ไขได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ถ้ารับหลักการในวาระ1 อาจจะเกิดปัญหาทางนิติวิธีมากมาย ขอติงเพื่อนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องมีความรับผิดชอบรัฐธรรมนูญ ที่ท่านเสนอเอง แก้ไข และร่วมเป็นกรรมาธิการเอง ไม่เช่นนั้น รัฐธรรมนูญจะเป็นอะไรก็ได้ที่ตามใจชอบ แม้ร่างที่เสนอมา จะตัด สว.ไม่ติดใจอะไร แต่เห็นว่า ยังทำไม่รอบครอบ เพราะได้ตัดโอกาสภาคประชาชนในการเลือกกันเอง จากหลายกลุ่มสาขาอาชีพ ที่มาเลือกกันเองเป็นสว.ที่มีในรัฐธรรมนูญ2560
“ท่านอาจอยากแก้หมวด1-2 เพราะส.ว.เป็นตัวขวาง ถ้าแก้ส.ว.สำเร็จ ก็จะเหลือแค่ ส.ส. แล้วมาตราอื่นจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือแม้แต่ การเข้าไปครอบงำอื่นๆอีกมากมาย จะมีการครอบงำอำนาจที่แบ่งอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ออกจากกันเอาไว้ โดยฝ่ายตุลาการมีมาตั้งแต่ 2475 ที่ศาลต้องมีความเป็นอิสระ ท่านกำลังตั้งคณะผู้ตรวจการศาล และศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ต้องพูด เพราะสำคัญ เสนอให้มีอำนาจถอดถอนทั้งประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด ออกจากตำแหน่ง ท่านมีอะไรโกรธเคืองนักหนา การแก้ไขครั้งนี้ พุ่งเป้าไปยังศาลรัฐธรรมนูญ” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ที่หวังจะควบคุมศาลและองค์กรอิสระ สงสัยว่า มีคดีค้างในปปช.เยอะหรืออย่างไร เพราะจะเซ็ตซีโร่ศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. กกต. กรรมการสิทธิฯ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ท่านมีเจตนาอะไร โกรธเคืองหรือมีอคติอย่างไรกับศาล องค์กรอิสระหรือไม่ เมื่อไปดูบอกว่า ไม่อาจไปแทรกแซงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่เมื่อไปดูร่างที่เสนอแก้ไข เขียนไว้ชัดเจน คณะกรรมการมีหน้าที่ไปศึกษา คำวินิจฉัยศาลได้ อยู่สภาฯมา ไม่รู้หรือว่าคำว่า ศึกษาหมายถึงอะไร สิ่งนี้คือการวางธง การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย นำไปสู่คำวินิจฉัยของศาล ชัดเจนเป็นการใช้อำนาจสุดโต่ง สุดกู่ ของสภาฯจะไปแทรกแซงศาล กระบวนการยุติธรรม สิ่งที่เสนอยังไกลเกินความจริง เป็นการเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ในการจะไปแทรกแซงศาล องค์กรอิสระ กกต. ปปช.
ที่ท่านอยากตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ส่วนตัวไม่ขัดข้อง รมว.กลาโหม มาจากสภาฯอยู่แล้ว มีตัวอย่าง อดีตรองผบ.ตร. เล่าให้ฟังว่า เคยมีอดีตรองนายกฯคนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าเมาไวน์ ประชุมก.ตร.แล้วด่าตำรวจ 4 ชั่วโมง เป็นแค่ตัวอย่างคนๆเดียว ถามว่า บุคคลที่จะส่งไปอยู่ในผู้ตรวจการกองทัพ ศาล องค์กรอิสระเป็นใคร มาจากไหน มีประโยชน์ทับซ้อน เปลี่ยนแปลงอรรถคดีหรือไม่
“คำตอบของผมคือ ไม่ไว้วางใจ เรื่องเหล่านี้เสนอมาแล้ว เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เป็นการเสนอที่ไกลเกินความจริง ไม่ได้บอกความจริงกับประชาชนทั้งหมด ท่านอ้างคน 1.35 แสนคนเสนอแก้ไขมา แต่คน 16 ล้านเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ คงไม่ยอมหรอกครับ ที่จะไปยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ ไม่ต้องไปยกเลิก ท่านเข้ามาร่วมกันทำงาน อยากเห็นคนหนุ่มสาวร่วมกันทำงานกับวัยกลางคน คนมีอายุมาก คิดว่าอย่างนี้สังคมอยู่ด้วยกันได้ เรามีความขัดแย้ง เป็นธรรมดา ผมก็ผ่าน 6 ตุลา 2519 พฤษภาทมิฬ ผ่านมาหมดก็ยังอยู่ได้ ไม่อยากเห็นความแตกแยกขัดแย้งแบบนั้นอีก ท่านเสนอกฎหมายมา ผมดีใจ แต่ที่เสนอรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศคำสั่งคสช.ทั้งหลาย ตอนเป็นเลขาวิปสนช. ก็ประสานแก้ไขเป็นกฎหมาย ให้เป็นกฎหมายที่ถูกต้องก็เป็นจำนวนมาก แต่หลายคำสั่งออกโดยชอบ ไม่อาจย้อนไปแก้ไขได้” นายสมชาย กล่าว