“ปิยบุตร-ไอติม” พร้อม พรรคก้าวไกล แถลงข่าว หนุนร่างแก้ไข รธน.ฉบับภาคประชาชน ขู่ ส.ว. ถ้ายังอยากมีสนามการเมืองเล่นต่อ ควรเสียสละตัวเอง ด้าน ‘ไอติม ย้ำ ร่างนี้ จะเป็นวัคซีนโควิดเข็มแรก กรุยทาง โค่น “ระบอบประยุทธ์”
วันที่ 16 พ.ย.2564 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล , นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม แกนนำกลุ่ม Re-Solution ร่วมกันแถลงข่าวถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่… พ.ศ…. ที่เสนอโดยภาคประชาชนกลุ่ม Re-Solution มีจำนวนประชาชนเข้าชื่อ 135,247 ชื่อ ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการในวาระที่1
นายพิจารณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่การจัดสรรเวลาในการชี้แจงค่อนข้างสั้นฝ่ายค้านได้เวลา 5 ชั่วโมง และเหลือให้พรรคก้าวไกลเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งที่การพิจารณาในครั้งนี้มีเนื้อหาและรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนมากมาย เมื่อเทียบร่างฯที่ผ่านการพิจารณาคราวที่แล้วที่แม้จะมีถึง7ญัตติ แต่เนื้อหาจับประเด็นไม่มากอะไร สำหรับพรรคก้าวไกลเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมกับภาคประชาชนที่ล่ารายชื่อในร่างแก้ไขฉบับนี้ด้านนายปิยบุตร กล่าวว่า ปีนี้ตนมาในฐานะผู้แทนประชาชน 135,247 คน ในการเสนอร่างฯที่เราให้ชื่อว่ารื้อระบอบประยุทธ์ หลักใหญ่ในร่างฯมี4ประเด็น 1.ยกเลิกวุฒิสภา ใช้ระบบสภาฯเดียว คือส.ส. 2.แก้ไขที่มาการตรวจสอบถ่วงดุลศาล และองค์กรอิสระ 3.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และ4.ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2557 และป้องกันการรัฐประหารในอนาคต ตนคาดหวังว่าส.ส.จะให้ความเห็นชอบ โดยไม่กังวลว่าพรรคใดเป็นฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล เพราะเนื้อหามีความสำคัญ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน “สำหรับส.ว. เข้าใจดีว่าอาจเป็นเรื่องยากลำบากที่จะโหวตเห็นชอบในชั้นรับหลักการได้ แต่ผมเชื่อว่าคงมีส.ว.ที่ตระหนักถึงประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชนเป็นหลัก และส.ว.ดำรงตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมมานานแล้ว บางคนเป็นมาตั้งแต่รัฐประหาร2549” นายปิยบุตร กล่าว และว่า
ขอฝากไปยังประชาชน ให้ติดตามฟังเหตุผลการชี้แจงของเรา รวมถึง ส.ส. ส.ว. แล้วลองชั่งน้ำหนักดูว่าเหตุผลใครดีกว่ากัน ก่อนจะมีการลงมติในวันรุ่งขึ้น เราก็จะทราบว่าใครลงมติไปในทิศทางใด ครั้งนี้ยังเป็นเพียงชั้นรับหลักการ ยังมีวาระ2 วาระ3 ถ้าผ่านไปได้ ยังต้องไปทำประชามติอีก ตนไม่เห็นเหตุผลอื่นใดที่สมาชิกจะไม่รับหลักการครั้งนี้ ควรจะรับไปก่อน แล้วค่อยมาถกเถียงพิจารณากันต่อไป เป็นการแสดงให้เห็นว่าสมาชิกให้ความสำคัญกับร่างฯฉบับประชาชน
นายปิยบุตร กล่าวว่า ร่างฯฉบับนี้ไม่ได้แตะระบบเลือกตั้ง เนื่องจากจะไปมีส่วนได้เสียกับพรรคการเมือง สุดท้ายถ้ามีส.ส.ร. ควรจะเปิดโอกาสให้ส.ส.ร.ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับพรรคใดเลย เข้ามาออกแบบแทน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นต่างกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ว่า รัฐธรรมนูญปี60 แตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี2550 รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ50 เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชอำนาจในการยับยั้ง(วีโต้) ร่างกฎหมาย และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเอาไว้ แต่รัฐธรรมนูญปี60 เขียนให้พระราชอำนาจในการวีโต้เฉพาะร่างพ.ร.บ. ไม่รวมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม“ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนายกฯ ในฐานะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จำเป็นจะต้องถวายคำแนะนำไปส่วนนี้ไปว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการวีโต้ จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธยในการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น แต่เมื่อนายกฯไม่ทำหน้าที่แบบนี้ รองนายกฯไม่เตือนนายกฯให้ถวายคำแนะนำแบบนี้ จะเกิดปัญหาขึ้น แต่มีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เรายังไม่ทราบว่าการลงพระปรมาภิไธยในร่างฯเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผมคิดว่า ถ้าวันนี้ผ่านไปได้ก่อน ยังมีโอกาสแก้ไขได้ต่อไป” นายปิยบุตร กล่าว
ขณะที่นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราเห็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญปี2560 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ จะบริหารประเทศได้ดีหรือไม่ ถูกใจแค่ไหน ก็ยังสามารถบริหารอำนาจตัวเองไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ร่างฯฉบับนี้ ถ้าเปรียบเป็นวัคซีนแก้โควิด-19 ถือเป็นเข็มแรก ที่ไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่างทั้งหมด แต่มุ่งแก้มาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดในการรื้อกลไกสืบทอดอำนาจ ถึงแม้ร่างฯฉบับนี้จะผ่าน ก็ตามมาด้วยการตั้งส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีอำนาจแก้ไขทุกหมวด ทุกมาตรา
“เข้าใจว่าเราคงจะเห็นความพยายามของสมาชิกรัฐสภาหลายท่าน ที่จะวาดภาพให้ร่างฯฉบับนี้น่ากลัวสุดโต่ง แต่ร่างฯฉบับนี้ไม่ได้ซับซ้อน เราสร้างระบอบการเมืองที่เป็นกลาง ไว้ใจประชาชน กติกาเป็นธรรม ทุกฝ่ายไม่ว่าจะมีอุดมการณ์การเมืองแบบไหน ก็สามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็หวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะโหวตบนหลักการประโยชน์ของประเทศ มากกว่าผลประโยชน์ตัวเอง” นายพริษฐ์ กล่าว