“ต่อตระกูล ยมนาค” อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมแห่งประเทศไทย โพสต์ ชื่นชม ทีมไทยผ่านเข้ารอบเป็น1ใน10ทีม ที่ได้รับเลือกจาก นาซา เข้ารอบสุดท้าย โครงการ Deep Space Food Challenge
วันที่ 29 ต.ค.64 รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊กส่วนตัว “ต่อตระกูล ยมนาค” โดยชื่นชมทีมไทยที่ได้เข้ารอบเป็น 1 ใน 10 ทีมจากทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกจากนาซา NASA เข้ารอบสุดท้ายในการประกวดโครงการ Deep Space Food Challenge โดยมีเนื้อหาดังนี้
“ข่าวดีๆ วันศุกร์ ทีมไทย ได้เข้ารอบเป็น 1 ใน 10 ทีมจากทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกจากนาซา NASA เข้ารอบสุดท้าย ในการประกวดโครงการ Deep Space Food Challenge ซึ่งเป็นการประกวดข้อเสนอ วิธีที่จะผลิตอาหารได้เองในยานอวกาศ สำหรับนักบินอวกาศ 4 คนที่จะต้องเดินทางยาวนาน 3 ปี โดยทีมไทยได้เสนอการเพาะเลี้ยงแมลง หนอน มดและการปลูกพืช ที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วนำมาฉีดออกมาเป็นอาหารรูปแบบต่างๆด้วยเครื่องพิมพ์อาหารสามมิติ ( 3D Food Printer) ทีมไทย เป็นกลุ่มมันสมองชั้นยอดจากการรวบรวมจากมหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ หลายแห่ง มารวมกันประกอบด้วย
นางสาวนภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นายประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง นักศึกษาปริญญาเอก KTH Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน , นายสิทธิพล คูเสริมมิตร นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายวัชรินทร์ อันเวช นักศึกษาปริญญาโทชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล ม.มหิดล และ ดร. วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และกรรมการผู้จัดการบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศสัญชาติไทย SPACE ZAB Company
ทั้งนี้การโพสต์ดังกล่าว รศ.ดร.ต่อตระกูล ได้อ้างอิงข้อมูลจาก www.tnnthailand.com/news/tech/94577/ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ “ทีม KEETA จากประเทศไทยนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตอาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้วัตถุดิบจากระบบนิเวศขนาดจิ๋ว” องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซาประกาศผลทีมที่ได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศ Deep Space Food Challenge โดยเป็นทีมจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 18 ทีม ทีมจากต่างประเทศนานาชาติ 10 ทีม ซึ่งทีม KEETA จากประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันในรอบที่ 2 ร่วมกับทีมจากประเทศโคลอมเบีย เยอรมนี ออสเตรเลีย อิตาลี บราซิล ซาอุดีอาระเบีย ฟินแลนด์ และอินเดีย
โจทย์การแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศ Deep Space Food Challenge กำหนดให้แต่ละทีมพัฒนาเทคโนโลยีอาหารเพียงพอที่จะทำให้นักบินอวกาศ 4 คน ดำรงชีพอยู่ในอวกาศได้นาน 3 ปี โดยไม่ต้องเติมเสบียงจากโลก รวมไปถึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารบนโลก อาหารที่ถูกผลิตขึ้นสร้างของเสียน้อยที่สุด มีความหลากหลายของเมนูอาหารใช้เวลาในการเตรียมอาหารน้อย
ทีม KEETA จากประเทศไทยนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตอาหารด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้วัตถุดิบจากระบบนิเวศขนาดจิ๋ว การเลี้ยงแมลง หนอน มดและการปลูกพืช ที่พึ่งพาอาศัยกันบนอวกาศภายใต้สภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมอย่างเป็นระบบสามารถผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเป็นแหล่งโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุสูง สำหรับนักบินอวกาศได้เป็นระยะเวลานาน
นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการอวกาศไทยที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศใช้บริโภคในอวกาศได้เป็นระยะเวลานาน โดยใช้องค์ความรู้และจุดเด่นของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรชีวภาพผสมเข้ากับเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ รวมไปถึงวงการอวกาศและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่บนโลก
ข้อมูลจากเฟสบุ๊ก “ต่อตระกูล ยมนาค” และเว็บไซต์ https://www.tnnthailand.com/news/tech/94577/