ศาลรธน. มีมติสั่ง “ไพบูลย์ นิติตะวัน “ไม่พ้นสมาชิกภาพส.ส.กรณีใช้ช่องกฎหมาย ประกาศเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ก่อนย้ายไปสังกัด สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จนกลายมาเป็น”ไพบูลย์โมเดล”
วันที่ 20 ต.ค.64 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่สิ้นสุดจากเหตุพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.)สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองและตนเองได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยที่ขณะเลือกตั้งไม่ได้มีชื่อเป็นผู้สมัครส.ส.ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นต่อกกต.เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คณะกรรมการบริหารพรรค ปชช.ได้ประชุมและมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรค โดยมีการดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรคที่ 54 มีกรรมการบริหารพรรค มาประชุมจำนวน 16 คนซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ ในขณะนั้นคือ 29 คน และทั้ง 16 คนมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรค จึงเป็นเสียงข้ามากตามข้อบังคับพรรคที่ 55 โดยมีเหตุผลการเลิกพรรคว่า เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคหลายคนลาออกและอีกหลายคนกำลังจะลาออก รวมทั้งขาดบุคลากรสนับสนุนจึงไม่สามารถดำเนินกิจการพรรคไปได้ เมื่อแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ และทำการตรวจสอบกรรมการบริพรรคทั้ง 15 คนให้ถ้อยคำสอดคล้องกันถึงเหตุผลที่เลิกพรรค อีก 1 คนอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ นายทะเบียนพรรคการเมือง จึงเสนอให้กกต.พิจารณา และมีมติเป็นเอกฉันท์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้พรรค ปชช.สิ้นสภาพ เมื่อ 6 ก.ย.62การสิ้นสภาพของพรรคปชช.จึงเป็นไปโดยชอบ
ส่วนข้ออ้างที่ว่า การเลิกพรรคปชช.เป็นการกระทำที่นายไพบูลย์มีเจตนาซ่อนเร้น ศาลเห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดแสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามที่กล่าวอ้าง เมื่อพรรคปชช.เลิกพรรค และกกต. ประกาศการสิ้นสภาพพรรคปชช.ในราชกิจจานุเบกษา มีผลวันที่ 6 ก.ย. 62 นายไพบูลย์ซึ่งเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคสี่ บัญญัติว่าการสิ้นสภาพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสมาชิกภาพส.ส.ที่จะได้รับผลกระทบจากการที่พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ อันเป็นหลักการเดียวกับการคุ้มครองส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ดังนั้นสมาชิกพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพตามมาตรา 91 เพื่อคงการเป็นส.ส.จึงต้องสมัครเข้าพรรคการเมืองอื่นนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ คดีนี้วันที่ 6 ก.ย.62 เป็นวันที่พรรคปชช.สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐวันที่ 9 ก.ย.62 จึงอยู่ในระยะเวลา 60 วัน นับแต่พรรคปชช.สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง
สำหรับที่อ้างว่า นายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรคปชช. ต้องอยู่ชำระบัญชีจนเสร็จสิ้นตามมาตรา 95 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนด เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 95 เป็นการกำหนดหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบให้ต้องปฏิบัติจนกว่าการชำระบัญชีระแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่งบัญชี งบดุล และเอกสารเกี่ยวกับการเงินภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบ และห้ามมิให้หัวหน้าพรพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนายพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพ แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรมในนามพรรคการเมืองอื่น
ส่วนข้ออ้างที่ว่านายไพบูลย์ ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.พลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อกกต.เมื่อตอนสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่สามารถเป็นส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐได้ เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 90 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และมาตรา 91 (5) กำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ได้มาซึ่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ ใช้บังคับระหว่างจัดการเลือกตั้งและประกาศผลการเลือกตั้ง เป็นคนละกรณีกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 10 ) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 91 วรรคสี่ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเลือกตั้ง และนายไพบูลย์ ได้รับการประกาศผลการเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแล้ว ด้วยเหตุดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)