สถาบันสาธารณสุขมูลฐาน-บีกริม ร่วมสร้างบ้าน อสม.

บริษัทบีกริม เพาเวอร์ จับมือ สถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน หนุนสร้างบ้านอยู่ดีมีสุข ให้อสม.ขุนพลด่านหน้าสู้ภัยโควิด-19

วันนี้ (14 ตุลาคม 2564 ) ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมกับ ดร.เมธี จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน และพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดสร้างบ้านอยู่ดีมีสุขครอบครัวอสม.โดยทำพิธียกเสาเอกบ้านหลังแรกให้กับ อสม.วิทสันติ
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค ดูแลสุขภาพของประชาชน อย่างเข้มแข็ง จนได้รับการยกย่องจากนานาประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่อสม.จำนวน 1,050,000 คนทั่วประเทศ (ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน)ต่างได้เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ ความอดทนทุกข์ยากต่าง ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนในหมู่บ้านและแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศชาติตลอดมา

ด้านนางเอื้อ ทองมั่น อายุ 34 ปีบอกว่าตนเป็น อสม.มา 3 ปีบ้านถูกน้ำท่วมและมีสภาพที่ทรุดโทรม ยังหาเงินมาซ้อมแซมบ้านไม่ได้เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากทางด้านประธาน อสม.เห็นความลำบากจึงได้ให้เข้าร่วมกับโครงการและดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการเพราะตนก็อยากมีบ้านที่มั่นคง ราคาในการผ่อนก็ถือว่าไม่แพงเพราะมีการส่งเสริมรายได้บวกกับเงินเดือนของ อสม.สาทารถที่จะผ่อนชำระให้ได้เพียง 2,500 บาทเท่านั้นดีกว่าไปกู้เงินจำนวนมากมาสร้างบ้าน

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กล่าวว่า การสร้างบ้านอยู่ดีมีสุขให้กับครอบครัว อสม. ผู้ที่มีบทบาทหลัก ในการช่วยเหลือดูแลสุขภาพ และ ควบคุมป้องกันโรคให้กับประชาชนในประเทศไทย ตลอดมา ทางบีกริม ยินดีร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดรับกับ โครงการ “บี.กริม ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” ที่ได้สนับสนุนเงินบริจาค และปัจจัยสิ่งของจำเป็น เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกันชีวิต และถุงยังชีพ เป็นต้น โดยบริจาคทั้งทางตรง กับ สถานพยาบาลต่างๆ หรือ ประชาชนที่เดือดร้อน รวมถึงผ่านองค์กรการกุศล สำคัญต่างๆอย่างเร่งด่วนมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวอีกว่า บี.กริม ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 142 ปี มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับสังคมไทย ในหลากหลายภาคส่วนผ่านธุรกิจและบริการต่างๆ ของ บี.กริม เมื่อยามที่ประเทศไทยประสบภัย ทำให้คนไทยได้รับความทุกข์ร้อนจึงเป็นความตระหนักจากใจจริงถึงความร่วมแรงร่วมใจในการให้ความช่วยเหลือตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคลหรือองค์กร ซึ่งรวมถึง บี.กริม ด้วยอย่างแน่นอน

ดร.เมธี จันท์จารุภรณ์ ประธานสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน กล่าวว่า อสม. มีบทบาทหลักคือการช่วยดูแลสุขภาพและควบคุมป้องกันโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ ดั่งคำขวัญที่ว่า “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข” อสม.ก็คือชาวบ้านในหมู่บ้านประกอบอาชีพเหมือนกับชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรฐานะยากจน การศึกษาไม่สูงนัก มีรายได้น้อย อยู่แบบเรียบง่ายและมีจิตอาสา แม้ว่าจะต้องประกอบอาชีพ แต่ก็ยังทำหน้าที่ของอสม.เพื่อส่วนรวมอย่างมั่นคงเสมอมา ไม่ได้มีการเรียกร้องสิ่งตอบแทนใด ๆ จะมีบ้างก็คือ ค่าป่วยการในการทำงานของอสม. เดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งอสม.บางคนใช้เงินในการทำงานมากกว่าเดือนละ 1,000 บาท สวัสดิการการเจ็บป่วย การเสียชีวิต การประกอบอาชีพ อสม.ต้องทำด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น ยังไม่มีองค์กรใด ๆ มาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ความเป็นอยู่ของอสม.กว่า 40 ปี จะยังคงทุกข์ยากอยู่ในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป ดังนั้นสถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งดำเนินงานร่วมกับอสม.มาโดยตลอดและเข้าใจสภาพปัญหาของอสม.มาเป็นอย่างดี จึงได้หารือกับภาคธุรกิจเอกชนอย่าง บริษัท บีกริม ที่มีแนวความคิดในการสนับสนุนภาคประชาชนให้มาสนับสนุนการดำรงชีวิตของอสม.ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัยให้มีสภาพที่ดี มั่นคง สวยงาม ภายใต้โครงการบ้านอยู่ดีมีสุขครอบครัวอสม. รวมทั้งการสนับสนุนการสร้างอาชีพ ปลูกไผ่ สมุนไพร ให้เกิดรายได้กับอสม.ผู้เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่ นายพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวว่าโครงการบ้านอยู่ดีมีสุขนี้ จะเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ บริษัทบีกริม สถาบันประชาชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย มูลนิธินายแพทย์ปรีชาดีสวัสดิ์เพื่อการสาธารณสุขไทย มูลนิธิพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ชมรมอสม.ระดับจังหวัด และบริษัทเวลโกรโซลูชั่น จำกัด เป็นต้น ทางอสม.และครอบครัวสามารถที่จะมีบ้านอยู่ดีมีสุขได้เมื่อเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีรายละเอียดหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เบื้องต้น คือเป็นอสม.มาไม่น้อยกว่า 5 ปี มีความเข้มแข็งในการทำงาน มีรายได้เพียงพอในการที่จะผ่อนบ้านตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การพิจารณาคัดเลือกจะพิจารณาจากคณะกรรมการของอสม.ระดับจังหวัดและผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อ อสม.โดยตรง
ด้านนางเอื้อ ทองมั่น อายุ 34 ปีบอกว่าตนเป็น อสม.มา 3 ปีบ้านถูกน้ำท่วมและมีสภาพที่ทรุดโทรม ยังหาเงินมาซ้อมแซมบ้านไม่ได้เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากทางด้านประธาน อสม.เห็นความลำบากจึงได้ให้เข้าร่วมกับโครงการและดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการเพราะตนก็อยากมีบ้านที่มั่นคง ราคาในการผ่อนก็ถือว่าไม่แพงเพราะมีการส่งเสริมรายได้บวกกับเงินเดือนของ อสม.สาทารถที่จะผ่อนชำระให้ได้เพียง 2,500 บาทเท่านั้นดีกว่าไปกู้เงินจำนวนมากมาสร้างบ้าน