“ราชทัณฑ์” แจงกักโรค “เวหา” ตามมาตรการสาธารณสุข ป้องกันโควิด-19 เข้ม สามารถประกาศสิ้นสุดการระบาดได้ถึง 11 แดน ยัน “ทัณฑสถานฯ” ไม่เคยจำกัดสิทธิ-ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย้ำดูแลผู้ต้องขังทุกคนเท่าเทียม
วันที่ 8 ต.ค.2564 นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณี นายเวหา แสนชนชนะศึก เจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน อ้างถูกจำกัดสิทธิความเป็นมนุษย์ ระหว่างถูกควบคุมตัวที่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และ มาตรการควบคุมโรคไร้ประสิทธิภาพจนทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า
ในทางคดีนายเวหา ต้องถูกนำตัวไปฝากขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่กรมราชทัณฑ์ มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิค-19 อย่างเคร่งครัด โดยผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกคนจะต้องดำเนินการแยกกักกันโรคอย่างน้อย 14 วัน ไม่สามารถออกจากห้องกักโรคได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องขังรายอื่น เนื่องจากทุกวันมีผู้ต้องขังเข้าใหม่จำนวนมาก และระหว่างกักโรค ต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการ Swab ซ้ำใน 1 และ 2 สัปดาห์ ซึ่งทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวได้อย่างเคร่งครัด
อีกทั้งสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค ได้ประเมินมาตรฐานห้องกักกันโรคในทัณฑสถานฯ อย่างต่อเนื่อง โดยทัณฑสถานฯ มีทั้งหมด 12 แดน และได้ประกาศการสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิค-19 ในแดน 2-12 มาตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ยกเว้นแดน 1 แดนกักกันโรค ซึ่งเป็นแดนรับผู้ต้องขังเข้าใหม่, ไปศาล และย้ายเท่านั้น จึงมีมติให้ทัณฑสถานฯ รับฝากขังแทน
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า ทัณฑสถานฯ มีเจ้าหน้าที่ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) ที่มีความรู้ด้านการพยาบาลเบื้องต้น เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด จนสามารถป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังจำนวน 693 คน ติดเชื้อได้ นับตั้งแต่เริ่มต้นสถานการณ์รุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2564 จนปัจจุบัน และไม่มีผู้ต้องขังติดเชื้อเป็นครั้งที่สอง แต่การควบคุมโรคจะเกิดประสิทธิผลต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนของผู้ต้องขัง ขณะอยู่ภายในทัณฑสถานฯ ด้วย ซึ่งทัณฑสถานฯ มีเอกสารรับรองจากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของ นายเวหา เป็นที่ประจักษ์สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้
จึงขอเรียนว่า ผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกคนจะต้องดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด หากพ้นระยะเวลาการกักกันโรคแล้วจึงใช้ชีวิตภายในทัณฑสถานฯเป็นปกติได้ ส่วนที่นายเวหา อ้างถึงผ้าห่มและของใช้ส่วนตัวไม่เพียงพอนั้น ยืนยันว่า ทุกคนได้รับผ้า 3 ผืน และมีเสื้อผ้าให้เปลี่ยนใหม่ทุกวันตามมาตรฐานเหมือนกันทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการรักษาตัวผู้ป่วยในเรือนจำ ที่มีทีมแพทย์คอยดูแลรักษาอาการและตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกวัน มิใช่ได้รับเพียง ยาพาราเซตามอล 1 เม็ดต่อวัน ตามที่นายเวหา กล่าวหา และขอยืนยันว่า ทัณฑสถานฯ ดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนให้ผู้ต้องขังทุกคนเท่าเทียม ไม่เคยจำกัดสิทธิหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่มีการปิดกั้นการพบทนายเพื่อปรึกษาอรรถคดีโดยระบบสารสนเทศแต่อย่างใด