“นิพนธ์” ถก ผวจ.สงขลา-สาธารณสุข ปรับแผนเชิงรุก รับมือ ป้องกัน”โควิด19-มรสุม”

รมช.มหาดไทย ประชุม ผวจ.สงขลา พร้อมด้วย นายแพทย์สาธารณสุข และ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำจากมรสุม และ เฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 กำชับต้องดำเนินการเชิงรุก

วันที่ 7 ต.ค. 2564 ที่ ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูมรสุม และแนวทางการควบคุมเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ผอ.ชลประทานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมนายนิพนธ์ กล่าวว่า ภาพรวมการแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดในพื้นที่จังหวัดสงขลา ขณะนี้มีจำนวนยอดผู้ป่วยมีการแพร่ระบาดที่สูงขึ้น จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนแบบเข้มข้น พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 596 คน ไม่มีการเสียชีวิต ยอดสะสมผู้ติดเชื้อ 34,479 คน พบในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่มากที่สุด รองลงมากลุ่มสัมผัสเสี่ยงในโรงงาน ร้านค้า บริษัท สำนักงาน กลุ่มรอการสอบสวนโรค กลุ่มผู้เดินทางจากต่างจังหวัด ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อกันภายในครอบครัว และชุมชน เนื่องจากการสัมผัสใกล้ชิดกัน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้สอบสวนและติดตามควบคุมป้องกันโรคฯตามมาตรการสาธารณสุขเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดเมื่อพบผู้ติดเชื้อได้ดำเนินการคัดแยก จัดตั้งสถานกักกันโรคท้องที่ (Local Quarantine หรือ LQ) การกักตัวที่บ้าน (Home Isolation หรือ HI) หรือ ระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation หรือ CI) โดยได้มอบภารกิจหลักให้ทุกท้องที่ ส่วนท้องถิ่น และ สาธารณสุขในพื้นที่ จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับโรงพยาบาลสนามเพื่อใช้ในการรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ จะมีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด การดำเนินการป้องกันควบคุมโรคขณะนี้ ต้องลงพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อเฝ้าระวังสอบสวนควบคุมป้องกันโรค อย่างต่อเนื่องทุกวัน เน้นปฏิบัติการเชิงรุก ตรวจไว ติดตาม และคัดแยกกักตัว เน้นค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้สัมผัสใกล้ชิดที่อยู่ร่วมบ้าน ชุมชน และสถานประกอบการต่างๆ โดยใช้ชุดทดสอบ ATK คัดกรอง เพื่อติดตามค้นหาผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อให้เร็วที่สุดและครบทุกคน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโดยเร็วพร้อมกันนี้ ยังมีเสนอให้ปรับมาตรการดูแลพี่น้องประชาชนในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้นโดยให้ท้องที่และท้องถิ่นบูรณาการการทำงานร่วมกับสาธารณสุขอำเภอ ผอ.รพ.ในอำเภอ เครือข่ายสาธารณสุข อสม.ในพื้นที่อีกทั้งการขอรับการสนับสนุนจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมมายังจังหวัดสงขลาเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนให้ได้ 70% สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นอกจากนี้ได้ติดตามการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูมรสุม ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม – ธันวาคม ของทุกปี ที่จะมีฝนตกหนัก คลื่นลมแรง และมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากระบายลงทะเลไม่ทัน ซึ่งได้เตรียมการมาอย่างต่อเนื่องครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ของการติดตามเพื่อบรรเทาความเสียหายของการเกิดเหตุให้ได้มากที่สุด โดยยังต้องกำชับทุกภาคส่วนร่วมกันบูรณาการการทำงาน เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งก่อนเกิดเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์ และหลังเกิดเหตุการณ์ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้น, ระบบบริหารจัดการการระบายน้ำ, การบริหารจัดการเพื่อรับสถานการณ์น้ำ รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนในกรณีเกิดเหตุฝนตกหนักได้อย่างทันท่วงที พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน