“นิพนธ์” รุดดู เขื่อนป่าสักฯระบายน้ำ พร้อมเยี่ยมปชช. ในพื้นที่ สระบุรี,อยุธยา,ปทุมฯ

รมช.มหาดไทย รุดดูเขื่อนป่าสักฯ-เขื่อนพระราม6 ระบายน้ำ แม้กรมชลฯ มั่นใจว่ายังจัดการได้ แต่ต้องไม่ประมาทในการรักษาชีวิตและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเยี่ยมผู้อพยพภัยน้ำท่วม 3 จ. สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี

วันที่ 30 ก.ย.2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และ รองหน.พรรค ประชาธิปัตย์(ปชป.)ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ อาคารควบคุมและการประมวล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมีรองผวจ.สระบุรี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ รายงานสถานการณ์น้ำภายในเขื่อน โอกาสนี้ นายนิพนธ์ กล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังสามารถควบคุมการระบายน้ำได้ ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำจะมีจำนวนเกินปริมาณที่เก็บกักได้ที่ 105 % ก็ตาม โดยความจุสูงสุดอยู่ที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้เขื่อนมีน้ำอยู่ที่ 1,114 ลูกบาศก์เมตรและมีการระบายน้ำวินาทีละ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังมีน้ำเหนือ ไหลลงเขื่อนใกล้เคียงกับน้ำที่ระบายออกดังนั้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ต้องเปิดประตูระบายน้ำ 5 บาน โดยได้แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนท้ายเขื่อนแล้ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด คือ ลพบุรี ,สระบุรี ,พระนครศรีอยุธยา ,ปทุมธานี และ นนทบุรี ให้เฝ้าระวังสถานการณ์เตรียมรับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อีกด้วย สิ่งที่กังวลคือ ต้องติดตามจนถึงวันที่ 3 ต.ค.นี้ ว่าจะมีพายุก่อตัวหรือไม่ จากนั้นก็ต้องเฝ้าระวังวันที่ 7-10 ต.ค.อีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเหนือลงมาประกอบกับน้ำทะเลหนุน แต่ยืนยันว่าขณะนี้ ปริมาณน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังควบคุมสถานการณ์ได้ และปริมาณน้ำก็ยังน้อยกว่าตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ด้วย

จากนั้นรมช.มหาดไทยและคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีการระบายน้ำลงท้ายเขื่อน 735 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และได้เปลี่ยนธงเป็นสีแดงเป็นสัญญาณ แจ้งว่าระดับน้ำวิกฤตแล้วแจ้งเตือนประชาชน ริมแม่น้ำป่าสัก ท้ายเขื่อนพระราม 6 ลงผ่าน อำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้เฝ้าระวัง ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำป่าสัก ต้องเร่งเก็บของขึ้นที่สูงเพราะระดับน้ำขึ้นอย่างรวดเร็วนายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกประกาศเตือนภัย และให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูล และ แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ เตรียมแผนให้พร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า  รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และต้องช่วยเหลืออย่างทั่วถึง จนกว่าน้ำจะลดแล้วเข้าสู่การเยียวยาและฟื้นฟูต่อไป ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเปิดทางน้ำให้มีการระบายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องมีการวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร

พร้อมกันนี้ รมช.มหาดไทยและคณะได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ และเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวประชาชน ผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ในพื้นที่จ.สระบุรีที่ต.แสลงพัน อ.วังม่วง พื้นที่จ.อยุธยา ที่ต.บ้านแพน อ.เสนา และพื้นที่จ.ปทุมธานี ที่ต.บ้านกระแซง อ.เมืองปทุมธานี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยด้วย โดยได้สั่งการให้ทางนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าช่วยอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนไปที่ปลอดภัยในกรณีที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น พร้อมกำชับให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง