อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยัน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ที่จังหวัดนครราชสีมา ยังไม่แตก สันเขื่อนยังมีความมั่นคงแข็งแรง แต่ยังมีน้ำล้นสปิลเวย์ และล้นสันเขื่อน เนื่องจากปริมาณเก็บกักเกินความจุ พื้นที่รับน้ำตอนล่างต้องเตรียมรับสถานการณ์
จากกรณีที่การเผยแพร่ข่าวว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา แตกแล้วนั้น ล่าสุด เฟซบุ๊ก กรมชลประทาน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า บริเวณอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและทางระบายน้ำ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จไปเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับขณะก่อสร้างมีฝนตกหนักต่อเนื่อง จนทำให้อ่างเก็บน้ำมีระดับน้ำเก็บกักเกินความจุ โดยมีปริมาณน้ำประมาณ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 151 เปอร์เซ็นต์ของความจุสูงสุด จึงทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ และไหลมาสมทบกันบริเวณที่กำลังก่อสร้าง นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน
โดยในช่วงการก่อสร้าง ได้ทำทำนบดินกั้นน้ำไว้ เมื่อมีน้ำมากเกินกว่าที่อ่างเก็บน้ำจะรับไหว จึงทำให้ทำนบดินบนไซด์งานก่อสร้างชำรุด ทรุดตัวลง น้ำจึงไหลล้นตรงบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่กว้างประมาณ 15 เมตร จึงใช้ช่องทางระบายน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มการระบายน้ำ แทนที่จะต้องตัดคันดินเพื่อเพิ่มการระบายน้ำ
ทั้งนี้ ยืนยันว่าทั้งตัวอ่างเก็บน้ำ และสันอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง ยังมั่นคงแข็งแรง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ “อ่างเก็บน้ำแตก หรือ เขื่อนแตก” ตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ด้วยปริมาณน้ำที่เกินความจุอ่างฯ จึงทำให้น้ำล้นจากอ่าง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูง จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้เตือนภัยประชาชนเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากแล้ว
ขณะที่ ผู้สื่อข่าวไปสอบถามกับผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ได้รับการชี้แจงว่า ขณะนี้กรมชลประทาน พยายามระบายน้ำออกให้สมดุลกับปริมาณน้ำไหลเข้า โดยเมื่อวานนี้ (26 ก.ย.) ได้เร่งระบายน้ำออกจากอ่างฯ ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระดับน้ำในอ่างฯ ไม่ให้ล้นสันอ่างเก็บน้ำ โดยบริเวณประตูระบายน้ำที่กำลังก่อสร้าง จะปรับความแรงของน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงมาปริมาณมาก จนกระทบกับพื้นที่ก่อสร้าง แต่ก็ยังมีอุปสรรค เพราะขณะนี้น้ำก็ยังไหลเข้าอ่างฯ ในปริมาณที่มากกว่าน้ำระบาย ซึ่งทางกรมชลประทาน จะพยายามทำให้ดีที่สุด ป้องกันไม่ให้น้ำล้นสันอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะไม่สามารถควบคุมได้