ชาวบ้านพังงาแตกตื่น เมฆประหลาดมีลักษณะเหมือนคลื่นยักษ์จากฝั่งอ่าวไทยซัดข้ามเทือกเขาสกนำฝนมาถล่มฝั่งอันดามันทำแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเขาหลักไฟดับทั้งเมือง
เครดิต ขอบคุณภาพ ‘นางสาวสุกัญญา เอี่ยมชัย’
วันที่ 26 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน นางสาวสุกัญญา เอี่ยมชัย ได้ถ่ายรูปเมฆประหลาดที่เป็นลักษณะเหมือนคลื่นยักษ์ ที่ซัดมาจากฝั่งอ่าวไทยข้ามเทือกเขาสกมาถล่มอันดามัน ก่อนที่จะเกิดฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก และทำให้ไฟฟ้าในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังเขาหลักไฟดับทั้งเมือง นางสาวสุกัญญา ล่าว่า ได้พบเห็น ม้วนเมฆเต็มท้องฟ้าทางทิศตะวันออก ของตลาด บขส. ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กำลังเคลื่อนตัวมาเป็นกำแพงเหมือนคลื่นขนาดยักษ์ที่กำลังจะซัดจากฝั่งอ่าวไทยข้ามเขาสกมาถล่มอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งอยู่ในฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นการซัดโถมที่แฝงเกาะกันอยู่ระหว่างความสะพรึงกับความตื่นเต้น จึงได้ตัดสินใจวิ่งข้ามถนนไปรื้อกล้องในกระเป๋าเอามาถ่ายภาพดังกล่าวเก็บไว้เพื่อเตือนใจ โดยให้ชื่อภาพว่า “เมฆม้วนน้ำ ม้างฟ้า ถาถั่งแผ่นดิน” โดยมีคำจำกัดความว่า “โลก…อยู่ใต้ฟ้า น้ำ ดิน กำหนดความเป็นอยู่ผู้อาศัย มนุษย์ คน สัตว์ จงอย่าผยองนักว่าเล่นเกมควบคุมโลก ควบคุมใครสุดท้าย…ธรรมชาติล้วนนำพากลับสู่ที่ตั้งดั้งเดิมแห่งชีวิต” ขณะที่ นายพรเทพ เพชรมีศรี ผู้จัดการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาตะกั่วป่า เผย หลังจากเกิดฝนฟ้าคะนองในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร จนดับในหลายพื้นที่ของอำเภอตะกั่วป่า จึงได้ส่งทีมช่างซ่อมบำรุงเข้าตรวจสอบหาสาเหตุ ที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรเป็นการด่วน เบื้องต้น พบว่า ได้เกิดฟ้าผ่าหม้อแปลงบริเวณโรงแรมในซอยบางเนียง ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ทำให้อุปกรณ์ป้องกันระบบจำหน่าย กฟภ. ตัดวงจรไป (วงจรฝั่งซ้ายจากซองบางปลิงบ้านบางสักจนถึงเขาหลัก+ซอยบางเนียง+ซอยแหลมประการัง) ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจ่ายไฟได้บางช่วง ตั้งแต่ ซ.บางปลิงถึง บ้านปากวีป และจะทำการตัดวงจร บริเวณ ซอยบางเนียงทั้งซอยออกจากระบบ เพื่อจะได้ทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้พื้นที่อื่นได้ใช้ก่อนเป็นการชั่วคราว
ทั้งนี้ เมฆที่ปรากฏในภาพในทางวิชาการมีชื่อเรียกว่า “เมฆอาร์คัส” (Arcus)
โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และชมรมคนรักมวลเมฆ ให้ข้อมูลว่า เมฆฝนฟ้าคะนอง นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus, Cb) เป็นเมฆฝนที่มีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง เกิดลูกเห็บ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า เกิดจากแนวอากาศร้อนที่ความชื้น พัดมาปะทะกับอากาศเย็น อากาศเย็นจะยกอากาศร้อนขึ้น จนมีลักษณะเป็นดอกเห็ด ภายในจะมีทั้งลมกดและลมยก
ส่วน เมฆอาร์คัส (Arcus) หรือเรียกว่า เมฆกันชน หรือ shelf cloud อยู่บริเวณฐานเมฆ และมีลักษณะโค้งเหมือนกันชนหน้ารถ จะเป็นปฏิกิริยาของเมฆฝนที่จะมีลักษณะโค้งลงมาใกล้พื้นดิน โดยเมฆอาร์คัสจะมี 2 แบบ คือ Roll รูปร่างม้วนแบบหลอด และ Shelf คือรูปร่างเป็นชั้น
สำหรับเมฆอาร์คัส (Arcus) ไม่มีอันตรายโดยตรง แต่เนื่องจากอาร์คัสเป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนอง จึงมีความเสี่ยงจากฟ้าผ่าแฝงอยู่ โดยเฉพาะฟ้าผ่าแบบบวก (positive lighting) ซึ่งสามารถผ่าออกมาไกลจากตัวเมฆได้หลายกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม บริเวณฐานกลุ่มเมฆจะเป็นลมกด ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่ค่อยเกิดขึ้นในช่วงฤดูนี้ และโดยเฉพาะปรากฏการณ์อาร์คัสก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ
ตัวอย่างเมฆกันชนที่เกิดขึ้นที่จังหวัดอุดรเมื่อปี 2557