สถานการณ์การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย อย่างปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุขึ้นและดำรงอยู่มานานกว่า 13 ปี โดยอาวุธชนิดหนึ่งที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงนิยมใช้ก็คือ “ระเบิด”
ด้วยเหตุนี้การพัฒนา “หุ่นยนต์กู้ระเบิด” จึงมีความสำคัญอย่างมาก
จึงไม่แปลกที่เวทีสัมมนาและนิทรรศการว่าด้วยทิศทางการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการทหารในอนาคต และการปฏิบัติการด้านการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป.จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยกับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ จึงได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงอย่างล้นหลาม
เพราะการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาช่วยเจ้าหน้าที่ในภารกิจด้านความมั่นคง เป็นเรื่องสำคัญมากไปแล้วในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการสูญเสียของกำลังพล และการลดปัจจัยความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่อันตราย
พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวว่า ภัยคุกคามที่เกี่ยวกับระเบิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หุ่นยนต์ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการปฏิบัติงาน รักษาความปลอดภัย ที่ผ่านมาเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องจัดหาจากต่างประเทศอย่างเดียว ซึ่งมีราคาแพง แต่ปัจจุบัน สทป.พยายามพัฒนาใช้เอง
“สทป.เป็นหน่วยงานวิจัย มีจุดแข็งในแง่ที่ว่าพอเราทำไป เราก็เก็บ เก็บเสร็จเราก็วิเคราะห์ และก็นำมาพัฒนาต่อ จากนั้นก็เผยแพร่ เมื่อมีหน่วยงานนำไปใช้ เราก็จะตามไปเก็บข้อมูล เพราะจุดประสงค์ของเราไม่ได้พัฒนาแค่ใน สทป. แต่เราพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ได้จริงในประเทศของเรา” พล.อ.สมพงศ์ ระบุ
ไฮไลท์ของงาน คือการเปิดตัว “หุ่นยนต์ต้นแบบเก็บกู้ระเบิดขนาดเล็ก” ซึ่งอยู่ในช่วงของแผนการวิจัยและพัฒนาระยะ 4 ปี โดยลักษณะเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้ ประกอบด้วย ขนาดของตัวหุ่นยนต์ที่เล็กลง มีน้ำหนักน้อยกว่า 20 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก เพียงแค่นำขึ้นสะพายหลังก็สามารถนำไปปฏิบัติภารกิจได้แล้ว และยังเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในภารกิจค้นหาวัตถุต้องสงสัยได้ด้วย โดยประเมินความเสี่ยงในระยะ 100 เมตรเลยทีเดียว
น.ท.ธนาสิทธิ์ เสือส่าน วิศวกรระบบ โครงการเก็บกู้วัตถุระเบิด สทป. อธิบายว่า หุ่นยนต์ขนาดเล็กนี้ทำมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ใช้เพื่อปฏิบัติงานคนเดียว น้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม แบกไปปฏิบัติงานได้
“เวลาไปเจอวัตถุต้องสงสัย ก็ปล่อยหุ่นตัวนี้ไปดู หุ่นสามารถตรวจวัตถุต้องสงสัยได้ สามารถหยิบจับได้ แล้วก็ลากได้ ตัวหุ่นมีกล้องที่มีความคมชัดในการตรวจพิสูจน์ว่าสิ่งที่สงสัยคืออะไรแน่ โดยที่คนไม่ต้องเข้าไปเสี่ยง ตัวนี้จะเคลื่อนที่ได้เร็วและมีความคล่องตัวสูงกว่าหุ่นขนาดกลางและขนาดใหญ่”
แต่เมื่อมีจุดเด่น ก็ต้องมีจุดอ่อนด้วยเช่นกัน ทว่าจุดอ่อนนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในทางยุทธวิธี…
“หุ่นตัวนี้จะแตกต่างจากตัวใหญ่ ตรงที่สามารถหยิบยกวัตถุได้น้อยกว่าตัวใหญ่ สถานที่ทุรกันดารอาจจะไปได้ไม่ดีเท่ากับตัวใหญ่ ภายในปลายปีนี้เราจะผลิต 10 ตัวเป็นต้นแบบเพื่อให้เหล่าทัพนำไปทดลองใช้ ทั้งกองทัพบก เรือ อากาศ และตำรวจด้วย เป้าหมายหลักก็คือการเก็บกู้ระเบิดของหน่วยอีโอดี ให้เขาสบายใจเมื่อใช้หุ่นยนต์” น.ท.ธนาสิทธิ์ กล่าว
นอกจากการทำให้ขนาดของหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดเล็กลง และเคลื่อนย้ายสะดวกแล้ว ในอนาคตจะมีการพัฒนาด้านวัสดุที่นำมาสร้างตัวหุ่นยนต์ จากเดิมที่ใช้อลูมิเนียมน้ำหนักกว่า 11 กิโลกรัม ก็จะลดให้เหลือเพียง 6 กิโลกรัม เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น
ยศธนา สกุลฎ์โชคนำชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทโชคนำชัย พาร์ทเนอร์ที่ร่วมผลิตหุ่นกู้ระเบิดขนาดเล็ก บอกว่า น้ำหนักในอนาคตจะเหลือไม่ถึง 6 กิโลกรัม ซึ่งจะใช้เป็นเหล็กก็ได้ หรือใช้เป็นพลาสติกก็ดี แต่น้ำหนักจะไม่เกินนี้แน่นอน
กระนั้นก็ตาม รูปแบบการก่อการร้ายในปัจจุบันที่ผู้ก่อการร้ายใช้ยุทธวิธีหลากหลายในการโจมตี ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีด้านเก็บกู้วัตถุระเบิดต้องใช้การบูรณาการเช่นกัน โดยสิ่งที่ สทป.จะดำเนินการต่อไป พล.อ.สมพงศ์ ผู้อำนวยการ สปท.บอกว่า คือการนำอากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี หรือโดรน มาทำภารกิจร่วมกับหุ่นยนต์กู้ระเบิด ซึ่งโดรนจะทำหน้าที่เสมือนตาบนฟ้า ผ่านระบบเซ็นเซอร์ แล้วส่งข้อมูลมายังตัวหุ่นยนต์ในการเข้าปฏิบัติภารกิจ
“เมื่อเกิดสถานการณ์เราต้องตรวจสอบได้ว่ามีอะไรแปลกปลอมอยู่หรือไม่ มีอะไรที่ผิดปกติหรือเปล่า เราจะได้ป้องกันได้ บางครั้งเราอาจจะต้องใช้ร่วมกับยูเอวี เช่น ทหารชุดลาดตระเวนคุ้มครองครู ก่อนจะออกจากฐานที่ตั้งสักครึ่งชั่วโมง ก็ส่งยูเอวีไปดูก่อนว่ามีอะไรไหม ถ้าไม่มีอะไรค่อยออกปฏิบัติภารกิจ แต่เมื่อออกไปแล้ว 5 นาที มีรถจอดอยู่ เราก็สงสัย เราก็มีกล้อง ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมอีก เช่น มีกระสอบหรือมีอะไรอยู่ เราก็เซ็นเซอร์ไป ดูว่ามีกลิ่นอะไรไหม เราจะได้ระมัดระวัง”
“หรือว่าถ้ามันเกิดระเบิดขึ้น เราก็ดูว่ามันมีลูกสองลูกสามหรือเปล่า เราก็จะเอาหุ่นกู้ระเบิดออำกไป ไปตรวจดูเพิ่มเติม เช่น อาจจะมีกระเป๋าวางอยู่ แต่ข้างล่างอาจจะมีระเบิดลูกที่ 2 ทั้งนี้เพื่อป้องกันกำลังพลไม่ให้บาดเจ็บหรือสูญเสียจากการปฏิบัติพวกนี้ เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์จะสามารถช่วยได้ทั้งในเรื่องการตรวจ และงานเก็บกู้” ผู้อำนวยการ สทป.ระบุ
รูปแบบการก่อการร้ายที่มีพลวัต ทำให้หน่วยงานความมั่นคงทั่วโลกเร่งหาหนทางเพื่อรับมืออย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ฐานข้อมูลกลาง” ของบุคคลต้องสงสัยต่างๆ
น.ท.ชูพงศ์ ปังธิกุล ผู้อำนวยการส่วนคุณภาพและความปลอดภัย สทป. บอกว่า รูปแบบที่พยายามทำกันอยู่ทุกประเทศในปัจจุบัน คือบูรณาการข้อมูล หรือ “ดาต้า เซ็นเตอร์” ซึ่งประเทศใหญ่ๆ มีหมดแล้ว
“ถ้ามีข้อมูลพร้อม เมื่อมีผู้ต้องสงสัยเข้ามา ก็สามารถจับประวัติได้เลยว่าคนนี้มีประวัติอาชญากรรมอะไรหรือไม่ รถคันนี้มีประวัติอาชญากรรมหรือไม่ หรือแค่ว่ามีแนวโน้มนิยมชมชอบผู้ก่อการร้าย หรือเป็นพวกหัวรุนแรง ก็ไปแมทช์ชิ่งข้อมูลกัน เช่น กับอังกฤษ ฝรั่งเศ สหรัฐ ซึ่งข้อมูลตัวนี้จะช่วยรับมือให้เรา ช่วยเจ้าหน้าที่ ด้วยการบูรณาการเอาสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทั้งหมดมาทำฐานข้อมณูล ซึ่งถ้าเราบูรณาการได้ ก็จะสามารถจัดการได้ดียิ่งขึ้น” น.ท.ชูพงศ์ กล่าว
พลวัตของการก่อการร้ายที่ใช้ “จิตวิญญาณ” ต่อสู้กับ “เทคโนโลยี” ใช้ความกล้าในการพลีชีพ สู้กับยุทโธปกรณ์อันทันสมัย กลายเป็นโจทย์ข้อยากที่ฝ่ายความมั่นคงทั่วโลกปวดเศียรเวียนเกล้า และทำให้การป้องกันการก่อการร้ายทำได้ยากอย่างยิ่ง
Cr. ข่าว : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์
Cr. ภาพ : ธวัชชัย พิชิตรณชัย