เครื่องแบบ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่9 ซึ่งไม่เหมือนพระมหากษัตริย์ พระองค์ใดในโลก

อัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า….เครื่องแบบพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ไม่เหมือนพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก เพราะทรงงานไม่เหมือนเป็นเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดเลย

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก่อนจะทรงพระประชวร พระองค์ท่านเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร ทรงรับฟังปัญหา และความทุกข์ยากอย่างใส่พระทัย โดยละเอียด ทรงทราบถึงสภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ รายละเอียด ของแต่ละท้องที่อย่างถี่ถ้วน แม่นยำ และทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากล้น เพื่อช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์ และ ภาพที่คนไทยเห็นติดตา ในยามพระองค์ท่านเสด็จฯลงพื้นที่คือ ทรงชุดสุท ทรงถือแผนที่ และทรงคล้องกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ

เด็กรุ่นใหม่ลูกหลานไทยที่เกิดหรือโตไม่ทันเห็นพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่และยาวนานของพระองค์ท่าน และไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ครอบครัว ครูอาจารย์ และสถานศึกษา ให้รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี จึงถูกชักจูงให้หลงผิดอย่างไร้สติอย่างง่ายดาย ความพยายามแต่งกายเพื่อล้อเลียนอาจเป็นเรื่องสนุกและความห้าวหาญของคนที่เห็นโจรเป็นคนดี และเห็นคนดีเป็นโจร ยกย่องโจรเป็นวีรบุรุษ และด้อยค่าวีรบุรุษเป็นโจร อย่างไม่น่าเชื่อว่านี่คือ ลูกหลานของผู้ดีมีชาติตระกูลเครื่องแบบพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ไม่เหมือนพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก เพราะทรงงานไม่เหมือนเป็นเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดเลย

• กล้องถ่ายรูป

พระองค์โปรดการถ่ายรูป และทรงมีกล้องถ่ายรูปส่วนพระองค์ครั้งแรกตั้งแต่พระชนมายุได้ 8 พรรษา โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีเป็นผู้พระราชทาน เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ยังโปรดที่จะถ่ายรูปของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชโอรส และพระราชธิดา จนกระทั่งเมื่อพระองค์ทรงเริ่มประกอบพระราชกรณียกิจและเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนความเป็นอยู่ของราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ กล้องถ่ายรูปและภาพถ่ายของพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนมาเพื่อรับใช้ความเป็นอยู่ของราษฎรและประกอบการทรงงานเป็นหลัก ดังพระราชดำรัสของพระองค์

“…การถ่ายรูปเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายรูปกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าต่อสังคม ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง…” การลงพื้นที่ปฏิบัติงานใดๆ ก็ตาม หากมีการบันทึกภาพ เก็บรายละเอียด ก็จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่พลาด

• แผนที่

การใช้แผนที่เป็นจะทำให้มองเห็นภาพใหญ่ ภาพรวม และสามารถวางแผนงานพัฒนาในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ รัดกุม ครบถ้วน โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับการลงพื้นที่จริง ในหลวงทรงใช้แผนที่อย่างเชี่ยวชาญ และเกิดประโยชน์ต่องานอย่างที่สุด ท่านองคมนตรี สวัสดิ์ วัฒนายากร เขียนบทความเรื่อง “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก” บางตอนเล่าถึง “แผนที่” ที่พระองค์ทรงใช้งานเป็นประจำว่าเป็น“แผนที่ 1:50,000” ซึ่งมีความละเอียดมาก

“พระองค์ท่านทรงมีข้อมูลในเชิงลึกมากๆ โดยเฉพาะเรื่องสภาพพื้นที่ภูมิประเทศ แหล่งนํ้า และการชลประทาน เป็นที่ตอกยํ้ากันในหมู่ข้าราชการชลประทานชั้นผู้ใหญ่ที่กราบบังคมทูลรายงานว่า “ห้ามเดาเด็ดขาด!” ถ้าเรื่องไหนไม่รู้ ก็ให้กราบบังคมทูลตอบไปตรงๆ” ครั้งหนึ่ง มีข้าราชการระดับผู้ใหญ่ไปรับเสด็จ กราบบังคมทูลถวายรายงาน “ในช่วงหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถามว่า สันฝายอยู่ที่ระดับเท่าใด ผู้อำนวยการ เกิดจำไม่ได้ ตัดสินใจดำนํ้ากะตัวเลขที่ใกล้เคียง สมมติว่า “บวก 350 พระพุทธเจ้าข้า” (สูงกว่าระดับนํ้าทะเลปานกลาง 350 เมตร)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดนิดหนึ่ง แล้วมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าระดับ 350 นํ้าก็ท่วมตำบลนี้ทั้งตำบล” ทรงชี้ไปที่แผนที่ 1 :50,000 เส้นบอกระดับตำบลที่อยู่เหนือนํ้าอยู่ที่ 349 นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผมท่องเป็นคาถาว่า เวลากราบบังคมทูลตอบเมื่อมีพระราชดำรัสถาม “ห้ามเดา”…”

ท่านองคมนตรียังเล่าถึง “พระปรีชาสามารถในเรื่องแผนที่” ความบางตอนว่า “ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงงานในพื้นที่ ภาพที่พสกนิกรเห็นเป็นประจำ คือ ภาพที่พระองค์ท่านทรงถือแผนที่ปึกหนาด้วยพระองค์เอง จะไม่มีภาพผู้ใดถือแผนที่ปึกนี้แทนพระองค์ท่านอย่างเด็ดขาด นอกจากอาจจะช่วยจับ ในเวลาที่พระองค์ท่านทรงคลี่ดู

แผนที่นี้เราเรียกกันว่า แผนที่ (มาตราส่วน) หนึ่งต่อห้าหมื่น (1:50,000) หมายความว่า ระยะ 2 เซนติเมตร ในแผนที่ คือ ระยะหนึ่งกิโลเมตร ตารางสี่เหลี่ยมในแผนที่ขนาด 2 x 2 เซนติเมตร คือ พื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร เขาสร้างขึ้นจากภาพถ่ายทางอากาศ มีเส้นบอกพิกัดและระดับความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นตัวเลขมีเครื่องหมายบวกข้างหน้า ในพื้นที่สูงขึ้นเป็นภูเขา จะมีเส้นบอกระดับทุกยี่สิบเมตรที่ความสูงเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น บริเวณภูเขาสูงชัน เส้นบอกระดับจะอยู่ติดกันดำพรืด เมื่อความลาดชันลดลง เส้นบอกระดับก็จะค่อยๆ ห่างออก

นายช่างชลประทานจะใช้แผนที่นี้ในการวางโครงการชลประทานเบื้องต้น โดยอ่านระดับความสูงของหุบเขา คำนวณพื้นที่รับนํ้าแล้วคูณด้วยตัวเลขฝนเฉลี่ย จะได้ปริมาณนํ้าเฉลี่ยต่อปี แล้วนำมาพิจารณาว่า ควรจะสร้างฝายหรืออ่างเก็บนํ้าตรงจุดใด ได้นํ้าประมาณเท่าใด ส่งไปช่วยพื้นที่เกษตรจำนวนกี่ไร่ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาพอสมควร

แผนที่ 1:50,000 ที่พระองค์ท่านทรงถือติดพระองค์นั้น ถ้าคลี่ออกเต็มที่ทุกคนจะแปลกใจ เพราะเป็นแผ่นที่ใหญ่มาก ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่รอบๆ จุดที่เสด็จฯ ไป โดยพระองค์ท่านจะทรงนำแผนที่หลายแผ่นมาต่อกันด้วยพระองค์เอง และพระองค์เคยทรงสอนวิธีการพับให้เหลือขนาดที่ทรงพกพาได้สะดวก การพับแผนที่แผ่นใหญ่ เพื่อให้คลี่มาดูจุดที่ต้องการได้ในทันที โดยไม่ต้องคลี่ทั้งแผ่นใหญ่เป็นเรื่องยากมาก แม้พระองค์ท่านจะเคยทรงสอน แต่ผมเชื่อว่า จนบัดนี้ยังไม่มีนายช่างชลประทานคนไหนทำได้

ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรอ่างเก็บนํ้าบ้านศาลาปางสัก-1 โครงการป่าขุนแม่กวง กรมชลประทานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จ กรมชลประทานจัดการแสดงถวาย จึงหรี่ไฟฟ้าให้สลัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำแผนที่ 1:50,000 มาวางบนโต๊ะเสวย ทรงหยิบดินสอกับไฟฉายเล็กๆ ที่ทรงเหน็บไว้ที่กระเป๋าฉลองพระองค์ มาทรงเปิดส่อง แผนที่ซึ่งทรงคลี่ออก เป็นแผนที่ภาคเหนือตั้งแต่เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลงมาจนถึงจังหวัดตาก อุทัยธานี เพชรบุรี

ผมสังเกตเห็นเส้นบอกระดับความสูงของภูมิประเทศด้านทิศเหนือและตะวันตกของประเทศไทย เป็นเส้นติดกันจนดูดำมืด แสดงว่าเต็มไปด้วยภูเขาสูงผมใจคอไม่ค่อยดี ได้แต่ท่องคาถาประจำตัว “ห้ามเดา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ปลายดินสอชี้ไปในแผนที่ เริ่มตั้งแต่เชียงรายเหนือสุดไล่ลงมาทีละจังหวัด จนถึงจังหวัดเพชรบุรี “อธิบดี ลำห้วยนี้มีน้ำมาก ถ้าเรากั้นตรงจุดนี้จะได้น้ำถึง 20-30 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งนํ้าไปช่วยอำเภอนี้ได้ทั้งอำเภอ”

ผมมองไม่เห็นเส้นบอกลำห้วยด้วยซํ้าว่า น้ำ ไหลไปทางไหน บางจุดก็มีพระราชดำรัสว่า “ลำห้วยนี้พื้นที่รับน้ำไม่มาก ควรสร้างเป็นฝาย ช่วยหมู่บ้านนี้ได้หลายหมู่บ้าน” ผมฉงนจริงๆ ว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นตัวเลขบอกระดับความสูงของภูมิประเทศได้อย่างไร

ในเมื่อตัวเลขเล็กๆ เบียดอยู่ในเส้นบอกระดับจะอยู่ติดกันดำพรืด แม้แต่ในตอนกลางวันก็ต้องเพ่งมองหาตัวเลขระดับ จึงจะนำมาคำนวณพื้นที่รับนํ้ากับปริมาณฝนเฉลี่ย เพื่อจะให้ได้ปริมาณนํ้าที่จะเก็บกักได้ และจะต้องพิจารณาด้วยว่า ตัวเขื่อนควรจะสูงเท่าใด จึงจะเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถ เพียงทอดพระเนตรแผนที่ ก็ทรงสามารถวางโครงการกำหนดจุดที่ควรจะสร้างอ่าง สร้างฝายได้ในทันทีทันใด เป็นที่น่าอัศจรรย์

ผมกลับมาถามวิศวกรจากกองออกแบบ ว่าเป็นไปได้อย่างไร หลายคนลงความเห็นว่า เป็นไปได้สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ และใช้แผนที่ 1:50,000 จนเชี่ยวชาญ เพียงดูความถี่ความห่างของเส้นบอกระดับ ก็อาจจะมองแผนที่เป็นสามมิติ มองเห็นความสูงตํ่าของภูมิประเทศที่เป็นภูเขาหรือหุบเหว พระองค์ท่านจึงทรงสามารถทอดพระเนตรจุดเหมาะสมที่จะสร้างฝายหรืออ่าง แล้วทรงคำนวณปริมาณนํ้าที่เก็บกักนํ้าในพระราชหฤทัยได้ทันที

ค่ำคืนนั้น ผมตามพระองค์ท่านไม่ได้เลย งงเป็นไก่ตาแตก ได้แต่ “พระพุทธเจ้าข้า” ทั้งคืน ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงจะทรงทราบแล้วว่า อธิบดีคนใหม่นี้เป็นวิศวกรเครื่องกล ไม่รู้เรื่องวิชาการชลประทาน จึงมีพระเมตตา ไม่ทรงถามความเห็นของผมเลย คงมีพระราชประสงค์เพียงว่า ให้รับทราบถึงศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำของพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้นายช่างหรือวิศวกรชลประทานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณารายละเอียดต่อไป…”

ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล : แนวหน้า The Standard โดย อัษฎางค์ ยมนาค เป็นคนรวบรวม