พรรคฝ่ายค้าน ยกสถิติ โดรนร่วง 48% หั่นงบฯกลาโหม 2.6หมื่นล.ฉะยับทร.ถลุงงบฯ

ฝ่ายค้าน ดาหน้า อภิปราย หั่น งบฯกระทรวงกลาโหม 2.6 หมื่นล้านบาท “พิธา” ชี้ภาวะ “ประชาชนล้มตาย” ไม่เหมาะซื้อยุทโธปกรณ์ พร้อมยกสถิติอุบัติเหตุโดรนไร้คนขับสูงถึง 48% เป็นเหตุกองทัพสหรัฐฯลดการใช้ ขณะ “ยุทธพงศ์” ด่ายับ ทัพเรือ ชงจัดซื้อ”เรือรบ” โดยไม่มีอาวุธ แล้วจะไปรบได้อย่างไร

วันที่18 ส.ค.2564 เวลา 17.25 น. การประชุมสภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1ล้านล้านบาท วาระสอง วันแรก ได้เข้าสู่มาตรา 8 งบของกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับจัดสรร 92,753 ล้านบาท โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะกมธ.วิสามัญฯ อภิปรายขอปรับลด จำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่าสถานการณ์ที่ประชาชนล้มตาย ไม่ควรให้เงินกองทัพซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แม้กองทัพเรือ ได้ถอนงบฯจัดซื้อเรือดำน้ำออกจาก งบประมาณปี 65 แต่ยังมีงบประมาณสิ่งก่อสร้าง และยุทโธปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ และ อาวุธใหญ่จำนวนมาก ทั้งท่ าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บตอปิโด เรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบก และ ระบบสื่อสารของเรือดำน้ำ และ โดรนไร้คนขับ เป็นงบผูกพันกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

เป็นงบปี 65 ประมาณ 3 พันล้านบาท และ ตัวอย่างของอาวุธที่ควรตัดงบคืนโครงการโดรนขนาดใหญ่ ของกองทัพเรือมีมูลค่าถึง 4.1 พันล้านบาท ซึ่งมี 3 เหตุผล ที่ตนต้องสงวนคำแปรญัตติ คือ 1.เหตุผลทางความปลอดภัย ที่มีสถิติของอุบัติเหตุ 2.เหตุผลทางความมั่นคงของชาติ เนื่องจากโดรนไร้คนขับ ต้องใช้ดาวเทียมในการควบคุม ซึ่งการปล่อยให้ต่างชาติ สามารถควบคุมโดรนผ่านดาวเทียมได้ ย่อมนำข้อมูลของเราไปให้ต่างประเทศได้ และ3.เหตุผลด้านงบประมาณ ตนมีรายงานการศึกษาจากต่างประเทศ ว่าการใช้โดรน ไร้คนขับแบบนี้ ไม่ได้ช่วยประหยัดเมื่อเปรียบเทียบกับการลาดตระเวนด้วยเครื่องบินปกติ

“จากเหตุผลทั้ง 3 ข้อ เราจึงเห็นกองทัพใหญ่ๆระดับโลก เช่น กองทัพสหรัฐอเมริกา และ กองทัพอินเดีย เริ่มพิจารณาลดการใช้โดรนขนาดใหญ่ลง ซึ่งสถิติหลอกกันไม่ได้ จะเห็นว่าโดรนขนาดใหญ่ ที่กองทัพเรือต้องการซื้อ มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุในปี 2001– 2014 ที่สูงมาก เมื่อดูตัวเลขโดรนเหล่านี้ที่ถูกซื้อมา 100 ลำ ตกถึง 48 ลำ ตามข้อมูลของหนังสือพิมพ์ระดับโลก พบว่าโดรน 48% ตกด้วยอุบัติเหตุ ไม่ได้ตกเพราะมีภาวะสงคราม แต่ตกด้วยตัวของโดรนเอง” นายพิธา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายงบกระทรวงกลาโหม ยังมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านตั้งประเด็น ที่สำคัญด้วย อาทิ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสาคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ขอตัดงบกลาโหม 2 หมื่นล้าน เพราะพบความไม่โปร่งใสในส่วนของกองทัพบก ในโครงการจัดหายานยนต์ สายสรรพาวุธ จำนวน 921 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 64 ผูกพันงบปี 65 จำนวน 368 ล้านบาทและผูกพันปี 66 อีก 368 ล้านบาท เมื่อสภาฯ อนุมัติงบให้ซื้อรถใหม่ กลับไปเปลี่ยนแปลงเป็นงบซ่อมตกคันละ 2.5 ล้านบาท ซึ่งใช้งานมากว่า 40 ปีหมดสภาพแล้ว โดยบริษัทชื่อย่อ ช.เสนอราคาซ่อมคันละ 2.5 ล้านบาท ซึ่งเหมือนรู้ล่วงหน้า ดังนั้นต้องขอถามกรรมาธิการฯ เสียงส่วนใหญ่ว่าผ่านงบประมาณให้ได้อย่างไร

“กองทัพเรือของบ 4.1 หมื่นล้านบาทที่ขอซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ จัดซื้อแล้ว 1 ลำเริ่มตั้งแต่ปี 60 สิ้นสุดโครงการปี 66 ซึ่งเริ่มดำเนินการโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นบิดาแห่งเรือดำน้ำ ระบุว่า เรือดำน้ำมีประโยชน์ เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ ใช้เพื่อรักษาประโยชน์ทางทะเล แสดงศักยภาพทางทหารและสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว ถามว่าท่ามกลางความอดอยาก ทำไม่เจรจาขอเลื่อนงวดงานออกไป ทำไมต้องรีบจ่าย ส่วนเรือเอนกประสงค์ ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่หรือ เรือแอลพีดี 6200 ล้านบาท กองทัพเรือและกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากต้องตอบว่ายอมให้จัดซื้อได้อย่างไร ทั้งที่เป็นเรือเปล่า ไม่มีอาวุธปืนและระบบอำนวยการรบ แล้วจะไปใช้รบได้อย่างไร” นายยุทธพงศ์ กล่าว