กรมควบคุมโรค จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 7 แสนโดส รอบ 2 ครอบคลุม 77 จังหวัด ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และ สาธารณสุข คาดจะถึงพื้นที่ไม่เกิน 14 ส.ค. นี้ ยืนยัน ไม่มีการสต๊อกวัคซีน และ ไม่เลือกฉีดวีไอพี
วันที่ 12 ส.ค.2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ว่า การจัดสรรโควตาวัคซีนไฟเซอร์ 7 แสนโดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในพื้นที่ 77 จังหวัด ได้มีการจัดส่งวัคซีน แบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกจัดส่งระหว่าง วันที่ 4-5 สิงหาคม จำนวน 442,800 โดส รอบที่สอง ทยอยจัดส่งตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม จำนวน 257,200 โดส และคาดว่า จะถึงทุกพื้นที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค.64 นี้ ส่วนหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 7 แสนโดส อ้างอิงมาจากฐานข้อมูลระบบกระทรวงสาธารณสุข (MOPH-IC) ที่มีประวัติการฉีดวัคซีนซิโนแวค ในช่วงวันที่ 28 ก.พ.-22 มิ.ย. 64 เนื่องจากวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงแรก และเป็นจำนวนบุคลากรทั้งหมดโดยไม่แยกว่าเป็นด่านหน้าหรือกลุ่มสนับสนุน
สำหรับการจัดส่งวัคซีนไปในพื้นที่ทั้ง 2 รอบ โดยห่างกัน 1 สัปดาห์ ซึ่งรอบแรกมีหลักเกณฑ์ โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำรวจผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้น และให้ส่งข้อมูลกลับมาภายในวันที่ 30 ก.ค. 64 ซึ่งพบว่า ข้อมูลที่สำรวจมีความหลากหลาย เช่น ไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคในฐานข้อมูล และหลายจังหวัดส่งข้อมูลกลับมาเลยเวลาที่กำหนด อีกทั้งมีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 2 แสนราย ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มกระตุ้นไปแล้ว นอกจากนี้ เมื่อเก็บวัคซีนไฟเซอร์ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะมีอายุได้ 1 เดือน หากต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง จะต้องฉีดห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ก่อนวัคซีนจะเสื่อมสภาพ
ดังนั้น การจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ในรอบแรก จึงต้องส่งให้ครบตามจำนวนที่ต้องการในแต่ละพื้นที่ ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้แจ้งความประสงค์หรือแจ้งมาไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนบุคลากร ก็ยังจัดส่งวัคซีนให้ร้อยละ 50 ของจำนวนบุคลากร เนื่องจากเข้าใจถึงความยุ่งยากในการประสานงาน
ส่วนจังหวัดที่ต้องการมากกว่าร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 74 ของจำนวนบุคลากร จะจัดสรรให้ตามที่แจ้งมา โดยจังหวัดที่แจ้งความประสงค์มาเกินร้อยละ 75 จะจัดส่งให้ร้อยละ 75 ก่อน เพื่อตรวจสอบจำนวนให้ชัดเจน เพราะหากวัคซีนเหลือในพื้นที่ จะยากต่อการบริหารจัดการ ซึ่งหากเปลี่ยนไปฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 608 จะไม่สามารถบริหารวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ และกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับวัคซีนในรอบ 2 ในสัปดาห์ถัดไปอยู่แล้ว
“ขณะนี้ได้ทยอยส่งวัคซีนไฟเซอร์ให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ โรงเรียนแพทย์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค 64 ที่ผ่านมา เนื่องจากทราบดีว่าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก และได้จัดส่งวัคซีนที่เหลือแต่ละจังหวัดให้ครบตามจำนวนในระบบฐานข้อมูลแล้ว คาดว่าวัคซีนจะถึงพื้นที่ทั้งหมดไม่เกินวันที่ 14 ส.ค. 64 นี้ ซึ่งได้แนบเอกสารการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 7 แสนโดส ว่าส่งไปที่โรงพยาบาลใดบ้าง ส่วนการจัดสรรจากโรงพยาบาลจังหวัด สสจ. จะจัดสรรไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ถือเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ยืนยันว่าไม่มีการสต๊อกวัคซีนไว้ที่กรมควบคุมโรค และไม่มีการเลือกฉีดให้กับเคสวีไอพีใดๆ ทั้งสิ้น” นายแพทย์โอภาส กล่าว และว่า หากพบเบาะแสการนำวัคซีนไปฉีดผิดกลุ่มเป้าหมาย ขอให้แจ้งกระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์บริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์กระทรวงสาธารณสุข โทร.02 590 2876-7