ปลัดสธ.นำทีมผู้บริหาร แถลงขอให้ รัฐบาล ออก พ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์-ด่านหน้า ขณะที่ รองนายกฯ ชี้ กรณีดังกล่าว อาจไม่เข้าข่ายออก พ.ร.ก. เตือน สธ.ต้องพิจารณาให้รอบคอบ
ความเคลื่อนไหวร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโคโรนา 2019 โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังมีกระแสคัดค้านอย่างหนักโดยเฉพาะข้อ 7 ระบุบุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือ มอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีนไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง อาญา วินัยและทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกระแสคัดค้านและต่อต้านการออกร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ที่อาจเป็นการนิรโทษกรรมให้กับรัฐบาล ที่บริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดว่า การหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64 มีการสอบถามประเด็นดังกล่าวกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ชี้แจงว่าเป็นเพียงการหารือของคณะแพทย์ หลังได้รับการร้องเรียนจากบุคลากรทางการแพทย์ กังวลต่อการปฏิบัติหน้าที่ ยังไม่ถึงขั้นการยกร่างของ สธ. ยังไม่มีการเสนอมายัง ครม.แต่อย่างใด
ขอย้ำว่ายังไม่มีใครรู้เรื่อง ไม่มีใครเคยเห็นร่างดังกล่าวด้วยซ้ำไป และได้แจ้งให้ สธ.กลับไปคิดให้ดี เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นอะไรต้องทำขนาดนั้น และอาจไม่เข้าข่ายออกเป็น พ.ร.ก.ได้ สำหรับแนวทางจะให้บุคลากรทางการแพทย์เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ ศบค. เพื่อได้รับการคุ้มครองในการปฏิบัติหน้าที่นั้น สามารถดำเนินการได้ แต่อาจไม่ครอบคลุม หรือ ให้ความคุ้มครองตามกฎหมายได้ทุกคน และจะรวมไปถึงบุคลากรด่านหน้า เช่น อาสาสมัครต่างๆ ด้วยหรือไม่ สธ.ต้องนำไปพิจารณา
ขณะเดียวกัน ที่ ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมประกาศแถลงการณ์ขอให้คุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ เห็นพ้องต้องกันว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ร้ายแรง มีผลกระทบในวงกว้างทุกมิติ ทำให้มีผู้คนเจ็บป่วยจำนวนมาก และบางครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ระบบสาธารณสุขของไทยได้ต่อสู้กับโรคนี้มานานเกือบ 2 ปี ด้วยสรรพกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา ประชาสังคม และประชาชน ด้วยสถานการณ์ทุกด้านที่มีความเร่งด่วน ต้องการความร่วมมือร่วมใจในการควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาลในทุกวิถีทางที่จะทำได้
รวมทั้งการจัดหายา เวชภัณฑ์และวัคซีน การตัดสินใจและการทำงานในภาวะเร่งด่วน รวมทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องขององค์ความรู้และทรัพยากร อาจก่อให้เกิดความไม่สมบูรณ์ หรืออาจเกิดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานโดยสุจริตใจได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพข้างต้น ขอเสนอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาดำเนินการหามาตรการในการปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนนักวิชาการต่างๆ เพื่อลดความวิตกกังวล และสร้างความมั่นใจในการทำงานที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป