กระทรวงดิจิทัล เตือนอย่าหลงเชื่อพวกมิจฉาชีพทำ Google Form และส่งข้อความผ่าน SMS ปลอม ไปสอบถามข้อมูลส่วนตัว เพื่อหลอกลวงให้ผู้ประกันตน ม.33 แจ้งรับเงินเยียวยา 2,500 บาท
วันที่ 7 ส.ค.2564 น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีที่มีการเชิญชวนให้กรอกแบบฟอร์ม ผู้ประกันตน ม.33 เป็นข้อมูลส่วนตัวผ่าน Google Form เพื่อรับเงินเยียวยา 2,500 บาทนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ จัดทำขึ้นโดยมิจฉาชีพเพื่อหลอกลวงขโมยข้อมูลสำคัญของประชาชนพบกลุ่มมิจฉาชีพได้จัดทำ Google Form และส่งข้อความผ่าน SMS ไปสอบถามข้อมูลส่วนตัว เพื่อหลอกลวงให้ผู้ประกันตนแจ้งความประสงค์รับเงินเยียวยา 2,500 บาท และให้กรอก เลขบัตรประจําตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และ ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ จนนำไปกดลิงก์เพื่อยืนยัน ซึ่งเป็นการใช้ความสับสนของผู้ประกันตนมาเป็นกลลวง ที่อาจนำมาซึ่งความเสียหาย ทั้ง ทรัพย์สิน และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ สำนักงานประกันสังคม จึงขอเตือนให้ผู้ประกันตนโปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด
ทั้งนี้ ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการรับสิทธิรับเงินช่วยเหลือเยียวยา ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม รวม 13 จังหวัด 9 ประเภทกิจการ ขณะนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนกว่า 3.1 ล้านคน ที่ มีสัญชาติไทย จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 2,500 บาท สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายครั้งเดียว โดยโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ เลขบัตรประชาชนเท่านั้น ซึ่งเงินเยียวยาจะเริ่มโอนเงินรอบแรกในวันที่ 4 – 6 สิงหาคม 2564 ส่วนที่เหลือ จะทยอยโอนให้ ทุกวันศุกร์ ของสัปดาห์ถัดไป โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถตรวจสอบสิทธิรับเงินเยียวยา ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือ แชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอม แล ะผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มี อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ หรือ กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง