“อนุทิน”ชม วิศวะจุฬาฯ พัฒนาเครื่อง บรรจุวัคซีนอัตโนมัติ แม่นยำสูง 4นาทีได้12เข็ม

รมว.สาธารณสุข ชมการสาธิต เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยดูดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยาได้แม่นยำ รวดเร็ว 4 ​นาทีทำได้ 12 เข็ม ลดภาระแพทย์

วันที่ 4 ส.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมรับชมการสาธิตต้นแบบ เครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ (Automate Vaccine) ซึ่งเป็นนวัตกรรม ที่พัฒนาร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนชนิดบรรจุหลายโดส (Multiple Dose Vial) โดย 1 ขวดใช้สำหรับฉีด 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร แต่ผู้ผลิต บรรจุวัคซีนมาให้เกิน คือ บรรจุมา 6.5 มิลลิลิตร ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับการฝึกฝน มีทักษะสามารถดูดวัคซีนได้มากถึง 11-12 โดสต่อขวด โดยต้องใช้เข็มฉีดยาชนิด ที่ลดปริมาณยาคงค้างในกระบอกฉีดยา (Low Dead Space Syringe) ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการใช้จำนวนมาก ทำให้เกิดความขาดแคลน ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนานวัตกรรมเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้การดูดวัคซีนและแบ่งบรรจุวัคซีนแต่ละโดสมีความแม่นยำตามที่กำหนดสำหรับการแบ่งบรรจุวัคซีนนั้น เจ้าหน้าที่จะเตรียมเข็มฉีดยาวางไว้บนแท่นจำนวน 12 หลอด จากนั้นนำขวดวัคซีนวางไว้ในจุดที่กำหนด เครื่องจะดูดวัคซีนออกมาจนหมดขวด โดยใช้หัวดูดสุญญากาศใช้หลักการดูดของเหลวโดยมี Air Cushion ทำให้วัคซีนไม่สัมผัสกับหัวดูดโดยตรงแล้วจะเคลื่อนไปแบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยา ตามจำนวนที่กำหนด คือ 0.5 มิลลิลิตรเท่ากันทั้ง 12 หลอด โดยเครื่องทำงานแบบสายพาน ทำให้แบ่งบรรจุวัคซีนลงหลอดฉีดยาอย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และ รวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาที จากนั้นปิดหลอดด้วยเข็มฉีดยา และนำมาเก็บใส่ถาดบรรจุวัคซีนเพื่อนำไปใช้ฉีดต่อไป“เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ในการดูดวัคซีนออกจากขวดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทำให้มีวัคซีนในการฉีดเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซนต์ ช่วยให้การฉีดวัคซีนในจุดขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดการใช้ Low Dead Space Syringe นอกจากนี้ ยังมีความปลอดภัยเพราะกระบวนการไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน เข็มและหลอดฉีดยาที่แบ่งบรรจุจะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง จึงไม่มีโอกาสเจือปนกันของวัคซีนแต่ละขวด ส่วนการนำมาใช้งานจริงจะมีการหารือกันต่อไป” นายอนุทิน กล่าว