ครม.ไฟเขียว ขยายมาตรการช่วยเหลือ “แรงงาน-ผู้ประกอบการ” กลุ่ม 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม พร้อมปรับกรอบวงเงินเพิ่ม อีก 3หมื่นล้าน เป็น 6 หมื่นล้าน
วันที่ 3 ส.ค.2564 เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ เพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้
1.ปรับเพิ่มพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรีและอ่างทอง
2.กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคม และ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3.ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ คือ กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขาและในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่ง และ โครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้ว และ ไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิจากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม 4.รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม และ 5.ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม ได้แก่ กรกฎาคม-สิงหาคม 2564 (2 เดือน) กลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติม คือ สิงหาคม 2564 (1 เดือน)
“กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และ รถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้ ครม.พิจารณาต่อไป” นายอนุชากล่าว