333 นักวิชาการ-สื่อ จี้รัฐบาล เปิดแผนการจัดหา จัดสรรวัคซีนโควิดทุกชนิด ต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใส เข้าใจในการะบวนการทำงานของภาครัฐ ตามหลัก Open data พร้อมแจงบทลงโทษ หากส่งมอบล่าช้า
วันที่ 26 ก.ค.2564 แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลให้เปิดเผย “ข้อมูลบริหารจัดการและกระจายวัคซีนโควิด-19 ตามหลัก Open data” พร้อมลงชื่อแนบท้ายรวมจำนวนทั้งสิ้น 333 ราย
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชน ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นในระบบราชการและการบริหารจัดการของรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การบริหารจัดการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม คือกุญแจสำคัญในการผ่านวิกฤตในครั้งนี้ “การเปิดเผยข้อมูลบริหารจัดการและกระจายวัคซีนโควิด-19 ตามหลัก Open data” จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสื่อสารว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะบริหารจัดการวัคซีนอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้สังคมได้มีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูล เข้าใจในกระบวนการตัดสินใจของภาครัฐ และนำไปสู่บรรยากาศของความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และภาคสังคม จะช่วยให้สังคมมีแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ ให้ความมั่นใจกับประชาชน และลดปัญหาความสับสนจากปัญหาข่าวลือและข่าวปลอมเครือข่ายนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชน ดังมีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 41 (1) ประกอบมาตรา 59 และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ซึ่งรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในครอบครองของรัฐและกำหนดเป็นหน้าที่ให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่ประชาชน โดยเสนอให้รัฐบาล ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผย “ข้อมูลบริหารจัดการและกระจายวัคซีนโควิด-19” ดังรายการต่อไปนี้
1.เปิดเผยกระบวนการเสนอ อนุมัติ และลงนามในสัญญาจัดซื้อวัคซีนที่ผ่านมาและในอนาคต รวมถึงเงื่อนไขสำคัญๆ ในสัญญาจองซื้อและจัดซื้อวัคซีนทุกยี่ห้อ อาทิ จำนวนโดส อายุสัญญา กำหนดการส่งมอบ บทลงโทษกรณีส่งมอบล่าช้า การยกเว้นความรับผิดให้กับผู้ผลิต เป็นต้น
2.เปิดเผยแผนการจัดหาวัคซีนทุกชนิดต่อสาธารณะ รวมทั้งแผนการทดแทนวัคซีนที่ขาดแคลนในปัจจุบันและการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึงในอนาคต
3.เปิดเผยหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่มีรายละเอียดการจัดลำดับความสำคัญ และจำนวนกลุ่มเป้าหมายของการจัดสรร
4.เปิดเผยแผนการฉีดวัคซีนและการบริหารจัดการวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายที่วางหลักเกณฑ์ไว้
5.เปิดเผยความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอเป็นรายวัน โดยมีรายละเอียด ชนิดวัคซีน บุคคลกลุ่มต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ พร้อมข้อมูลลักษณะประชากร ข้อมูลเชิงพื้นที่ (รายจังหวัด) และข้อมูลเชิงหน่วยงานที่ดำเนินการ
โดยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยให้เป็นไปตามมาตรฐาน Open Data Standard ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ให้สื่อมวลชนและประชาชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย มีความละเอียด ครบถ้วน สมบูรณ์ อัพเดตอย่างสม่ำเสมอ และอยู่ในรูปแบบที่เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-Readble Format) เช่น ข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ XLS หรือ CSV
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม ขึ้นเกิดได้จริง ให้ประชาชนมีความหวัง และสร้างบรรยากาศที่พร้อมให้ร่วมมือกับรัฐบาลในการผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้