มาเลย์สั่งซื้อพันธุ์ลูกปลากะพงขาวไม้อั้น เตือนเกษตรกรรับมือแข่งขันเรื่องราคา

ชาวมาเลเซียกว้านซื้อลูกปลากะพงขาวในประเทศไทยไม่อั้น หลังขาดแคลนอย่างหนัก เพื่อนำไปเลี้ยงในบ่อ และส่งกลับมาขายในไทย ด้านนักวิชาการประมงเตือนเกษตรกรไทยพัฒนาวิธีการเลี้ยงเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

วันนี้ (23 มี.ค.) ดร.อัตรา ไชยมงคล นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 6 สงขลา เปิดเผยว่า ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 6 สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลากะพงขาวจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง ทั้งในพื้นที่ จ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ขณะนี้ได้เร่งผลิตลูกปลากะพงขาวให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ รวมทั้งเกษตรกรที่ประสบปัญหาในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายอำเภอของจังหวัดสงขลา โดยนำปลากะพงขาวไปเลี้ยงทดแทน

ในขณะเดียวกัน ทางประเทศมาเลเซียก็มีความต้องการลูกปลากะพงขาวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะขนาดความยาว 3-4 นิ้ว หรือที่เรียกว่าขนาดปลาขุน เพื่อนำลูกปลากะพงขาวไปเลี้ยงในบ่อดิน ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยติดต่อผ่านเกษตรกรที่มาซื้อลูกปลากะพงขาวที่ศูนย์วิจัย ส่งให้เดือนละ 1-2 แสนตัว และรับแบบไม่อั้น เพื่อส่งไปยังรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย นำไปเลี้ยงในบ่อดิน

เนื่องจากในประเทศมาเลเซียขาดแคลนลูกปลากะพงขาวเป็นจำนวนมาก แหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลากะพงขาวอาจมีปัญหา เพาะพันธุ์ไม่ติด ทำให้ขณะนี้ทางมาเลเซียขาดแคลนลูกปลากะพงขาว จึงมีความจำเป็นต้องหาลูกปลากะพงขาวจากแหล่งเพาะพันธุ์ของกรมประมงที่ผลิตลูกปลากะพงขาวที่มีคุณภาพจากประเทศไทย

สำหรับราคาลูกปลากะพงขาวขุน ขนาด 3-4 นิ้ว ราคาขายอยู่ที่ตัวละ 10-12 บาท ซึ่งจะมีขายที่ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยเกษตรกรมาซื้อลูกปลากะพงขาวขนาด 1 เซนติเมตร ราคาตัวละ 1 บาท จากศูนย์วิจัยฯ สงขลา แล้วนำไปเลี้ยงต่อจนขุนได้ขนาด 3-4 นิ้ว จึงจับขายในราคาตัวละ 10-12 บาท

ดร.อัตรา ไชยมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เกษตรกร หรือนายทุนในมาเลเซียมีความต้องการปริมาณปลามากขนาดนี้ อาจเป็นไปได้ว่าที่มาเลเซียมีการขยายวิธีการเลี้ยงได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่มีผลกระทบตามมาในระยะสั้นต่อเกษตรกรในบ้านเรา คืออาจจะมีการแข่งขันในด้านราคา เนื่องจากมาเลเซียส่งปลากะพงขาวมาขายในประเทศไทยด้วยและราคาถูกกว่า ทำให้เกษตรกรอาจแข่งขันสู้ในเรื่องของราคาไม่ได้ ซึ่งเกษตรกรจะต้องเตรียมตัวและปรับตัว หาวิธีการเลี้ยงปลาเพื่อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และต้นทุนต่ำ เพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นให้ได้

 

Cr.mgr