ก้าวไกล ข้องใจ!! พปชร.เร่งแก้ รธน. เชื่อเป็นแผนปูทาง “บิ๊กตู่” กลับสู่เก้าอี้นายกฯ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ข้องใจ พปชร.เร่งเดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างผิดสังเกตุ โดยไม่รอทำประชามติ เชื่อเป็นแผนการ เพื่อปูทางให้ “บิ๊กตู่” กลับสู่อำนาจอีกครั้ง หากมีอุบุติเหตุ”ยุบสภา”

วันที่ 22 มิ.ย.2564 เวลา 12.00 น. ที่ รัฐสภา นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกลในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่าง ตนคาดว่า ร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 อย่างแน่นอน เพราะเราเห็นแล้วว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการทำเพื่อให้แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนนำไปสู่การยุบสภาในเร็วๆ นี้ ซึ่งสิ่งที่พบเห็นในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญคือความเร่งรีบ

“ในวันนี้ที่มีการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ยาเสพติด ถึง 3 ร่าง ซึ่งเสนอเข้ามาโดยคณะรัฐมนตรี และ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับสามารถผ่านไปได้ จะมีประโยชน์ต่อกระบวนการในการจัดการกับผู้ที่ทำผิดหรือผู้ต้องหา เพราะเป็นการรวบรวมกฎหมายแต่ละฉบับรวมเป็นประมวลกฎหมายให้บังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการใช้กฎหมายเพื่อฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด”นายพิจารณ์ กล่าวและว่า ได้มีการบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในการประชุมวันที่ 23 มิถุนายนด้วย ซึ่งหากวันนี้พิจารณากฎหมายยาเสพติดไม่เสร็จ กฎหมายฉบับนี้ก็จะถูกดองไว้อีก ตนคิดว่าเป็นการจัดลำดับความสำคัญที่ดูแปลกๆ นอกจากนี้การแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกบรรจุระเบียบวาระในการประชุมครั้งนี้ โดยอ้างเงื่อนไขคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีการทำประชามติก่อน ซึ่งหากต้องรอร่างนี้ทำประชามติ เหตุใดจึงไม่รอพิจารณาร่วมกับร่างอื่นๆ พร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน

ซึ่งขณะนี้มีการรวบรวมรายชื่อเกือบจะครบการหลักเกณฑ์ 50,000 รายชื่อแล้ว เพื่อให้ทุกร่างได้นำเข้าสู่สภาจะเป็นการเหมาะสมกว่าหรือไม่ และจะเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าหรือไม่ ไม่ว่าแต่ละพรรคการเมืองนอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่สามารถปิดสวิตช์ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปได้ ก็ไร้ประโยชน์ ต่อให้ระบบการเลือกตั้งจะสะท้อนเสียงประชาชนได้ดีแค่ไหนก็ตาม

“พรรคก้าวไกลยืนยันว่า มาตรา 272 ต้องได้รับการยกเลิก จึงเป็นเหตุที่ที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ยื่นร่างหรือเซ็นร่วมกับร่างใดๆ เพราะไม่อยากสร้างความสับสนให้กับสังคม เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่าการที่จะไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องยกเลิกมาตรา 272” นายพิจารณ์ กล่าว

และต่อข้อถามว่าจะมีการหารือในที่ประชุมเกี่ยวกับร่างมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายพิจารณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ร่างของพรรคเพื่อไทย แต่รวมถึงการล่ารายชื่อของภาคประชาชนด้วย ซึ่งจะมีการตั้งคำถามไปที่ประธานในวันพรุ่งนี้ด้วย