ที่ประชุมใหญ่ สหประชาชาติ ลงมติ เรียกร้อง หยุดขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา และขอให้มีการปล่อยตัว นักโทษการเมือง รวมทั้ง “ออง ซาน ซูจี” ขณะไทย-จีน-รัสเซีย งดออกเสียง
วันที่ 20 มิ.ย.2564 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ออกข้อมติเรียกร้องให้ยุติการขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา เพื่อตอบโต้การใช้ความรุนแรงโดยกองทัพ พร้อมประณามกองทัพเมียนมา ที่โค่นล้มรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขอให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี และยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงที่ใช้สันติวิธี แม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ข้อมติของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในครั้งนี้ถือว่ามีนัยสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งคริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติเรื่องเมียนมา กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องจริง ขณะนี้เวลาเหลือน้อยแล้ว โอกาสที่จะพลิกสถานการณ์การยึดอำนาจโดยกองทัพกลับมาแคบลงเรื่อยๆ ทั้งนี้มติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก 119 ประเทศ โดยมีเพียงประเทศเดียว คือ เบลารุสที่คัดค้าน และมีอีก 36 ประเทศงดออกเสียง ในจำนวนนี้รวมถึงจีนและรัสเซีย พันธมิตรสำคัญและประเทศหลักที่ขายอาวุธให้เมียนมา
สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า มติดังกล่าวเป็นผลจากการต่อรองเจรจากันอย่างยาวนานโดยกลุ่มที่เรียกว่า แกนหลักที่รวมถึง สหภาพยุโรป หรือ อียู และหลายชาติตะวันตก รวมถึงอาเซียน โดยพบว่าภายในสมาชิกอาเซียนโหวต แบ่งแยกกัน โดยฝ่ายที่โหวตรับรองมติรวมถึง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ส่วนฝ่ายที่งดออกเสียง มี ไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว
ขณะประเทศที่งดออกเสียงอื่นๆ มองว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นภายในประเทศของเมียนมา และบางประเทศ ห็นว่าข้อมติไม่ได้ระบุถึงการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมา ต่อ ชาวมุสลิมโรฮีนจาเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งทำให้ชาวโรฮีนจาเกือบล้านคนต้องหนีภัยความรุนแรงไปอยู่ในประเทศข้างเคียง