กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระมัดระวัง การซื้อหรือเก็บ “เห็ดป่า” มาปรุงอาหารในช่วงหน้าฝน หากไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรซื้อหรือเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
วันที่ 7 มิ.ย. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่ง มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษ โดยทั่วไปประชาชนมักจะนิยมเก็บเห็ด หรือซื้อมารับประทานซึ่งอาจเป็นเห็ดพิษ และทำให้เกิดความสับสนและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–27 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 173 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ มากกว่า 65 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 55-64 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ภูเก็ต ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ
สำหรับเห็ดพิษที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือ เห็ดไข่ตายซาก มีลักษณะ คล้าย ไข่ห่าน นอกจากนี้ ยังมีเห็ดถ่านเลือด คล้ายกับ เห็ดถ่านเล็กที่รับประทานได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม เมื่อผ่าดอกเห็ดดู มีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อ และทำให้ตับไตวาย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิต รวมถึงเห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสน กับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษ จะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า
ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น ต้มเห็ดพิษ กับข้าว หรือ หอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือ จุ่มช้อน หรือ ตะเกียบเงินเครื่องเงิน แล้วจะทำให้เงินดำ นั้นไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม ผัด ย่าง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหลังกินเห็ด อย่าล้วงคอ หรือ กินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และ การกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือ ติดเชื้อได้ จึงให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่าง หรือ ภาพถ่ายเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ นัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ
ดังนั้นขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการซื้อและหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดป่า อาทิ เห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือ เห็ดระงาก และอื่นๆ ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อน หรือ ดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือ สงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บ หรือ ซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์ จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้น หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422