ศบค.แถลงสถานการณ์ประวำวัน ต่อการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า ระบุ โควิดไทยวันนี้ติดเพิ่ม 2,671 ดับ 23 ฉีดวัคซีนกว่า 4 ล้านโดส กทม.พบคลัสเตอร์ใหม่อีก 5 แห่ง
วันที่ 6 มิ.ย.2564 เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 2,671 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 1,984 เดินทางจากต่างประเทศ 83 ราย คัดกรองในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 604 ราย รวมผู้ป่วยติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 177,467 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 2,242 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 126,517 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 23 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน ราย 1,236 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 49,714 ราย รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 20,419 ราย โรงพยาบาลสนาม 29,295 ราย อาการหนัก 1,209 ราย ใช้เครื่องช่วยหัวใจ 361 ราย ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนวัคซีนทั่วประเทศ รวม 4,190,503 โดส โดยจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 2,845,287 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 1,345,216 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า เมื่อแยกย่อยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,671 ราย แยกเป็น กทม. 675 ราย ปริมณฑล 645 ราย จังหวัดอื่นๆ 664 ราย เรือนจำและที่ต้องขัง 604 ราย ส่วนเสียชีวิต แบ่งเป็น ชาย 12 คน หญิง 11 คน โดย กทม. 13 คน ปริมณฑล 4 คน จังหวัดอื่นๆ 6 คน ส่วนเรือนจำไม่มีรายงานของผู้เสียชีวิต ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นการติดเชื้อในครอบครัว และมีโรคประจำตัว ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แบ่งเป็น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาเรนห์ อียิปต์ สหรัฐอเมริกา 1 ราย มาเลเซีย 2 ราย ส่วนกลุ่มก้อนใหญ่คือ กัมพูชา 76 ราย ซึ่งมีทั้งเดินทางมาจากด่านที่ถูกต้องและพรมแดนช่องทางธรรมชาติ โดยพบว่ามีจำนวน 16 รายที่เดินทางมาจากช่องทางที่ผิดกฎหมาย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับเข้าประเทศ ขอให้เดินทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบ หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ ออกโดยสำนักเอกอัครราชทูต หรือสถานกงกุลของแต่ละประเทศ หากเข้ามาไม่มีเชื้อจะเข้าสู่ระบบ state quarantine 14 วัน แต่หากพบเชื้อก็เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ จำนวนด่านจุดผ่านแดนที่อนุญาตที่ให้ประชาชนกลับเข้าประเทศ จำนวน 23 ช่องทาง 22 จังหวัด กระจายทั่วประเทศ ทั้งนี้ สำหรับสถิติการเดินทางกลับเข้าประเทศของคนไทยผ่านจุดผ่านแดนทางบก ช่วงหลังสงกรานต์วันที่ 18 เมษายน จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน พบว่า เมียนมา 2,216 คน ลาว 6,302 คน กัมพูชา 3,547 คน มาเลเซีย 30,941 คน อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาอย่างถูกต้องด้วย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือการเดินทางกลับมาจากกัมพูชาที่มีจำนวนมาก ซึ่งมีจำนวน 5 จุดผ่านแดน คือ ช่องสะงำ จ.ศรีษะเกษ ช่องจอม จ.สุรินทร์ บ้านคลองลึก จ.สระแก้ว บ้านแหลม จ.จันทบุรี และบ้านหาดเล็ก จ.ตราด โดยสถิติจุดที่เข้ามามากที่สุดคือ บ้านคลองลึก จำนวนจะมากที่สุด โดยรองรับได้วันละ 100 คน โดย 1 เดือนที่ผ่านมา เข้ามาแล้วจำนวน 657 คน เฉลี่ย วันละ 39 คน ส่วนด่านอื่นๆจำนวนคนน้อยมาก เฉลี่ยเดือนละ 4 คนหรือ 9 คน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เปิดบริการให้กับคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องแอบเข้ามา
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย กทม. 675 ราย สมุทรสาคร 288 ราย เพชรบุรี 196 ราย สมุทรปราการ 124 ราย สงขลา 89 ราย ตรัง 58 ราย ปทุมธานี 51 ราย พระนครศรีอยุธยา 44 ราย และฉะเชิงเทรา 35 ราย ทั้งนี้ ลักษณะการกระจายของเชื้อโดยสมุทรสาคร ที่กระทุ่มแบน โรงงานผลิตสินค้าเด็ก พบผู้ป่วยรายใหม่ 224 ราย เพชรบุรี เขาย้อย โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ 183 ราย นนทบุรี เมืองนนทบุรี แคมป์ก่อสร้าง 112 ราย ส่วนสมุทรปราการ เมืองสมุทรปราการ เขตอุตสาหกรรมฟอกหนัง พบ 16 ราย ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ เป็นต้น
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่ออีกว่า ทางกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้นำเสนอจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อประปรายแต่มีการเชื่อมโยงกับการติดเชื้อเขตพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ เช่น จ.ร้อยเอ็ด ติดจากคนในครอบครัว จ.มหาสารคาม สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากฉะเชิงเทรา หนองบัวลำภู เดินทางมาจาก กทม.และชลบุรี จ.ชัยภูมิ เชื่อมโยงกับคนที่มาจากสมุทรปราการ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการควบคุมโรค โรคไม่ได้อยู่ที่พื้นที่อย่างเดียวแต่มาจากบุคคลที่เคลื่อนย้าย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม.ว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะนี้มีจำนวนทั้งหมด 63 แห่ง แบ่งเป็น กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด 48 แห่ง กลุ่มเฝ้าระวัง 10 แห่ง และที่พบใหม่อีก 4 เขต 5 แห่ง คือ เขตดุสิต ตลาดเทวราช (เทเวศร์), เขตราชเทวี ชุมชนเพชรบุรี ซอย 10/ซอยหลังโรงเรียนกิ่งเพชร, เขตลาดพร้าว แคมป์ก่อสร้าง บ.ซิโนไทย, เขตวัฒนา ชุมชนมาชิม และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาด วันนี้มีการตรวจเพิ่มพบว่ามีตลาดที่ผ่านการประเมินสุขาบาล สุขอนามัย จำนวน102 แห่ง ซึ่งทาง กทม.จัดทำข้อมูลไว้ ขอให้ติดตามข้อมูลจากเว็บไซต์กรุงเทพมหานคร ส่วนแคมป์คนงานก่อสร้าง จำนวน 409 แห่ง พบว่า มีการตรวจ 367 แห่ง ผ่านประเมิน 270 แห่ง ไม่ผ่าน 97 แห่ง โดยสิ่งที่เข้าไปดูคือมาตรการประผู้ประกอบการหรือนายจ้างและตรวจมาตรการคนงานและบุคคลในครอบครัว
ทั้งนี้ มาตรการของนายจ้างต้องเพิ่มขึ้นคือการวางแผนเตรียมความพร้อมเมื่อพบผู้ป่วย สื่อความรู้ข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว รวมถึงที่นั่งรับประทานอาหารภายในแคมป์ สถานที่อาบน้ำ กิจกรรมสังสรรค์