องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จับตา! ครม. ลักไก่ นำรถไฟฟ้าสีเขียว เข้าพิจารณาอังคารนี้ ถามประชาชนยังลำบากไม่พอหรือ ถึงซ้ำเติมด้วยการขึ้นราคารถไฟฟ้าล่วงหน้าให้ ชาว กทม.ต้องรับภาระไปอีก 30 ปี ย้ำรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชน พร้อมเสนอราคา 44 บาทตลอดสาย และหลังหมดสัญญาสัมปทาน เหลือ 25 บาท
สภาองค์กรของผู้บริโภค แจ้งถึง การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จะถูกบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในการประชุมวันอังคารที่ 1 มิ.ย. 2564 โดย กทม.ยืนยัน กำหนดราคาค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไป ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ขณะเดียวกัน ยังได้รับการคัดค้านจาก จากคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร สภาองค์กรของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป กรณีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้าของ กทม. ขาดความโปร่งใส ปกปิดข้อมูลในการตัดสินใจ และไม่มีการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน กำหนดอัตราค่าโดยสารราคาสูงสุดถึง 65 บาท ซึ่งไม่อยู่บนข้อเท็จจริงต้นทุน และราคาสูงมากถึงร้อยละ 39.25 ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันของประชาชน และยังปล่อยปละละเลยให้ภาคเอกชนทวงหนี้ 30,000 ล้านบาท ต่อสาธารณะที่เข้าข่ายทวงหนี้ผิดกฎหมาย
ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงขอคัดค้าน ครม.ที่จะนำสัญญาสัมปทานล่วงหน้าสายสีเขียว เข้ารับการพิจารณาในวันอังคารหน้านี้ เพราะจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชน นอกเหนือจากปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวกรุงเทพไปอีกอย่างน้อย 30 ปี
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลรายงานประจำปีของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ พบว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยวเพียง 19.10 บาท, 16.30 บาท และ 13.50 บาท ในปี พ.ศ. 2562, 2561 และ 2560 ตามลำดับ จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสามารถกำหนดอัตราราคาค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสายต่อเที่ยวหากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า หรือหากพิจารณารายได้ของบริษัท ในการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า ที่กำหนดรายได้ของบริษัทไว้เพียง 30,000 ล้านบาทต่อปีในระยะเวลา 30 ปี ขณะที่รายได้จริงของบริษัทในปี พ.ศ. 2562 สูงถึง 39,931 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นการคำนวณรายได้ของ บริษัทที่ต่ำกว่าจริงหรือไม่ และอาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ หากพิจารณาราคาค่าโดยสารของกระทรวงคมนาคม ที่ให้ความเห็นต่อ ครม.ก็มีราคาสูงสุดเพียง 49.83 บาทตลอดสายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ระบบสายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท จนถึงระยะเวลาหมดสัมปทานในปี 2602 หากลดราคาดังกล่าวลงมา 50% สามารถมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 25 บาท กทม.ก็ยังคงมีกำไรสูงถึง 23,200 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 38 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2602)
ดังนั้นเพื่อลดปัญหาค่าครองชีพและลดค่าบริการขนส่งมวลชนของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาระบบรถไฟฟ้า จึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรี คงราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวราคา 44 บาทตลอดสาย ตามสิทธิของบริษัทในสัญญาสัมปทานนับแต่ปัจจุบันจึงปี พ.ศ. 2572 โดยมีการจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท