นายกรัฐมนตรี พร้อมรับศึกพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 กำชับรัฐมนตรีเข้าประชุมสภาฯ แจงข้อสงสัย ชี้ ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจ
วันที่ 30 พ.ค. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมชี้แจ้งรายละเอียดถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 ในวาระที่ 1 ในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาว่า การประชุมสภาฯ ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการชี้แจงให้ ส.ส. ทราบถึง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในรายละเอียดแล้ว ยังถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อได้รับทราบถึงการจัดทำงบประมาณด้วย พร้อมย้ำให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพื่อชี้แจงข้อสงสัยของ ส.ส. และสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบไปในคราวเดียวกัน
สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ จำนวน 2,360,543 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.15 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับรายจ่ายลงทุนมีจำนวนทั้งสิ้น 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.14 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลที่มีจำนวน 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ไม่เป็นปัญหาในการจัดงบประมาณในครั้งนี้แต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลสามารถเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ซึ่งประกอบด้วย
1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท
2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท
3. การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้
นอกจากนี้ หากจำแนกงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 23.67 ตามด้วยยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 18.05 และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 17.68
“นายกรัฐมนตรีจะได้ใช้โอกาสนี้ ชี้แจงหลักการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายภายใต้แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากสถานการณ์โควิด-19 (พ.ศ.2564-2565) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยได้พิจารณาทั้งแหล่งเงิน ศักยภาพหน่วยงาน และได้ดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว”.