เปิดปูม “วิสาขบูชา” วันขึ้น15ค่ำ เดือน6 ตรงกับ วันประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน องค์สมเด็จพระพุทธโคดม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันคล้ายวัน ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ คือ ประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ของ พระพุทธโคดม ซึ่งเกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือ วันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ โดย วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
วันวิสาขบูชา เริ่มขึ้นครั้งแรก ในสมัยสุโขทัย เป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมา จากประเทศศรีลังกา ประมาณ พ.ศ. 420 โดย พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา เป็นผู้ประกอบพิธีวิสาขบูชา เพื่อถวาย องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า นับจากนั้น กษัตริย์แห่งลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ได้ถือปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้ สืบต่อกันมา และได้เผยแพร่เข้ามาใน ราชอาณาจักรสยาม เนื่องจาก สยาม หรือ ประเทศไทย ในเวลาต่อมา มีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนา กับ ศรีลังกาอย่างใกล้ชิด
จะเห็นได้ว่ามีพระสงฆ์จากเมืองลังกาหลายรูป เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทย ซึ่งมีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ นางนพมาศ สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึง วันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งชาวเมืองสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อ บูชาพระรัตนตรัขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ต่อมาภายหลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่มีปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2360
พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศลทั่วหน้ากัน อีกทั้งการรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ถือว่าเป็นแบบอย่างปฏิบัติในการประกอบพิธีวิสาขบูชาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน