ศบค.ชุดใหญ่ ไฟเขียว ประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.- 31 ก.ค.2564 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19
วันที่ 21 พ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้อนุมัติ ขยายระยะเวลาการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตามข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกไปอีก 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน- 31 กรกฎาคม 2564
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการขยายเวลาคราวละตั้งแต่ 30 วัน 45 วัน และ 60 วัน โดยการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นครั้งที่ 12 นับตั้งแต่มีโรคไวรัสโควิด-19 ระบาด เมื่อต้นปี 2563 โดยเหตุผลหลักมาจากการควบคุมโรค ของกระทรวงสาธารณสุข
มติ ศบค. ระบุเหตุผลการขยายเวลาครั้งนี้ ว่า “เนื่องจากยังพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเมินตามห้วงเวลา ประกอบกับความพร้อมของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ ฉบับใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564 เพื่อเห็นชอบต่อไป”
พร้อมกันนี้ได้มีการพิจารณา แผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ตามข้อเสนอของ กระทรวงสาธารณสุข โดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 และรับทราบการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมามีการประกาศมาตรการด้านสาธารณสุขในการจัดการประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ ประจำปีครั้งที่ 1/2564 ที่เสนอโดยกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ จะรายงานมาตรการแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเรื่องการเลื่อนการเปิดภาคเรียน ภาคที่ 1/2564 ให้ที่ประชุมรับทราบด้วย
โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน
สำหรับมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะยังคงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อ
การจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่กลุ่มบุคคลที่จำเป็นต้องเข้าประชุมอยู่ในสถานที่หนึ่งที่ใดเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่องหลายชั่วโมงซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาอาจไม่สะดวกหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในการประชุม หากผู้จัดประชุมได้กำหนดให้มีมาตรการตรวจคัดกรองบุคคลและได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างรอบคอบ รัดกุม และเข้มงวดเพียงพอแล้ว เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม
การให้ผู้เข้าร่วมประชุมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและเครื่องป้องกันตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการแสดงใบรับรองผลการตรวจว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดให้มีกระบวนการคัดกรองโดยพิจารณาจากอาการของโรค ประกอบกับได้ดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมการประชุมตามระเบียบหรือข้อบังคับเมื่อเกิดเหตุที่มีความเสี่ยงโดยให้ผู้ควบคุมการประชุมกำหนดให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการประชุม แต่อาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะช่วงเวลาของการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในที่ประชุมได้ตามความเหมาะสมแห่งสภาพการณ์และความสมควรแก่เหตุ
ข้อ 2 การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์
ทั้งนี้ การประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ไปแล้วทั้งหมด 11 ครั้ง ดังนี้
ขยายครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ขยายครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ขยายครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563
ขยายครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
ขยายครั้งที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
ขยายครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
ขยายครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
ขยายครั้งที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564
ขยายครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
ขยายครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
ขยายครั้งที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
ขยายครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 31 กรกฏาคม 2564