เชื่อเหลือเกินว่าผู้ที่ขับรถไปทำธุระอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขากลับเมื่อเดินทางกลับมาตามเส้นทางถนนหมายเลข 42 เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเห็นป้ายข้อความถาวรขนาดใหญ่ เกี่ยวกับ“ดินแดนลังกาสุกะ” มีทั้งป้ายต้อนรับของจังหวัดปัตตานีตรงทางหลวงดังกล่าว อีกทั้งบริเวณสามแยกเข้าเมือง และในพื้นที่อื่นๆ จะมีป้ายคำว่า “ลังกาสุกะ” เพื่อให้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมากว่า 1,800 ปี ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอันกว้างใหญ่ในแหลมมายูแห่งนี้
แต่เมื่อป้ายดังกล่าวได้ขึ้นมาสักระยะหนึ่ง เริ่มมีคนบางกลุ่มออกมาตีโพยตีพายและต่อต้าน ข่าววงในมีการเปิดเผยว่ามีการดำเนินการกันอย่างเงียบๆ เพื่อเอาคำว่า “ลังกาสุกะ” ออกจากป้ายประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี แม้แต่อาจารย์ท่านหนึ่งที่มีดีกรีระดับ “ดร.” ที่มีความรอบรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์แหลมมายู ผู้ซึ่งผลักดันและให้ความสำคัญของคำว่า “ลังกาสุกะ” และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการหารือเรื่องการขึ้นป้ายในจังหวัดปัตตานี เพื่อให้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของตนเอง
แต่เมื่อมีการปลดป้ายออก “ดร.” ได้กล่าวกับผมว่า “เขาแอบดำเนินการ แอบประชุมกัน โดยไม่หารือ หรือไถ่ถามความเห็นกับคนที่ริเริ่มเลยสักคำ”
เมื่อทำการปลดป้ายที่มีข้อความที่มีคำว่า“ลังกาสุกะ”ออก การปลุกกระแส ในการใช้วาทกรรม ในการใช้คำว่า “ปาตานี”เริ่มแรกโดยการแอบแทรกซึมอยู่ในบทความ “หัวข้องาน” หรือใน กิจกรรมเล็กๆ หรือเวทีเสวนาของคนบางกลุ่มในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเริ่มแพร่ขยายสู่วงกว้างในสังคมโดยการนำเสนอของสื่อต่างๆ มิเว้นแม้กระทั่งกลุ่ม “มาราปาตานี” ซึ่งเป็นตัวแทนทีมพูดคุยของกลุ่มคิดต่างที่ทำการก่อเหตุในพื้นที่ 6 กลุ่ม ยังโหนกระแสและนำคำว่า “ปาตานี” มาใช้เป็นชื่อกลุ่ม
เมื่อทำการศึกษาของคำว่า “ปาตานี” คำคำนี้มีการตัดตอนประวัติศาสตร์เอาแค่ยุครุ่งเรืองสุดซึ่งเคยผ่านมาแค่ 400 กว่าปี ทั้งๆ ที่ “อาณาจักรลังกาสุกะ” มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน 1800 กว่าปี พฤติกรรมของคนบางกลุ่มเพื่ออะไร? ไม่ใช่เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมของผู้คนในพื้นที่หรอกหรือ? เพราะนำชื่อเมืองเก่าที่ชื่อ “ปัตตานี” หรือ “ปตานี” มาใช้เพื่อหาผลประโยชน์ชี้ให้เห็นว่าในพื้นที่แห่งนี้มีกลุ่มคนแค่เพียงชาติพันธุ์เดียวเท่านั้น โดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นว่ายังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่อยู่อาศัยดั้งเดิมในพื้นที่มาอย่างช้านาน
และนี้คือตัวบ่งชี้ วาทะกรรม ซึ่งเป็นแผนการที่มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มีความพยายามแยกเค้าแยกเรา แบ่งแยกผู้คนด้วยเชื้อชาติและศาสนา ต้องการสร้างความหวาดระแวง ก่อเกิดอคติ และเกลียดชังต่อกันแค่นับถือศาสนาต่างกัน
ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน กล่าวคือส่วนที่ใช้กำลัง ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยการลอบวางระเบิด ลอบยิง กระทำความรุนแรงทุกรูปแบบอันจะนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกส่วนหนึ่งคือการดำเนินการทางความรู้สึก การสร้างมวลชนร่วม ซึ่งมีการปลูกฝังใส่ความรู้สึกร่วม ความเป็นพวก เชื้อชาติ ศาสนา การไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่เท่าเทียมในสังคม ฝังรากลึกในสมอง จนกระทั่งกลุ่มคนเหล่านี้มีเห็นผิดเป็นชอบ เกิดความอคติต่อรัฐ ต่อผู้คนต่างศาสนา ไม่ยอมรับ ไม่ให้ความร่วมมือ ต่อต้าน
พฤติกรรมเหล่านี้ผู้ที่คลุกคลีทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมทราบดี ซึ่งท่าทีและความร่วมมือในด้านต่างๆ ชัดเจนมันฟ้องด้วยเหตุและผลอยู่ในตัวเอง คือการไม่ยอมรับ ตรงนี้เราไม่สามารถบังคับความรู้สึกได้เลย การให้การศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง การสร้างความรู้สึกร่วมการเป็นพลเมืองแห่งรัฐ รวมไปถึงการแยกแยะถูกผิด สร้างจิตสำนึก เปิดเผยประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริง อาจจะทำให้คนในพื้นที่ยอมรับรัฐได้มากขึ้น แต่หากไม่อธิบาย เมินเฉยอีกทั้งตั้งแง่แบ่งข้าง ก็เข้าทางกลุ่มขบวนการในการแย่งชิงมวลชน ที่สำคัญรอยบาดแผลแห่งความทรงจำจากความขัดแย้งต่างๆ ก็ยังคงอยู่ปัญหาก็ยากที่จะยุติ
“สหายท่านหนึ่ง”
Cr.pattani blog