ครม.ไฟเขียว!! ธ.ก.ส.-ออมสิน ปล่อยกู้ให้ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

ลูกจ้าง-เกษตรกร รอได้เลย!! ธ.ก.ส.-ออมสิน เตรียมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 2 หมื่นล. พร้อมพักชำระหนี้ จนถึง 31 ธ.ค.2564 ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19

วันที่ 5 พ.ค.2564 คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบด้วย

1. มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 เป็นการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้าง หน่วยงานเอกชนที่มีเงินเดือนประจำ เป็นต้น ผู้ประกอบอีพอิสระเช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น และเกษตรกรรายย่อย หรือ ลูกจ้างภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน

โดยให้สินเชื่อ ผ่านธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 20,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แห่งละ 10,000 ล้านบาท) คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก)

ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม

โครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณ รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเสนอมาตรการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน พักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้แก่ลูกค้ารายย่อย ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ โดยการพักชำระเงินต้นเพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือเพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือเพื่อการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง

โดยวิธีการชำระหนี้ที่พักชำระไว้ดังกล่าวจะต้องไม่เพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินควรเมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ย กรณีที่SFIs ได้พิจารณาพักชำระไว้ด้วย นอกจากนี้ ให้SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือSFIs ตามความจำเป็นและเหมาะสม ในกรณีที่การดำเนินการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือฐานะทางการเงินของ SFIs