ภท.จี้ ‘Tpbs-สุทธิชัย หยุ่น’ ขอโทษ นำเสนอ เฟคนิวส์ ‘ผ่านคุยให้คิด’

ภูมิใจไทย โวย “สุทธิชัย หยุ่น” จัดรายการ “คุยให้คิด” สถานีไทยพีบีเอส นำ “เฟคนิวส์” กล่าวหา “อนุทิน ชาญวีรกูล” ขวางเอกชนนำเข้าวัคซีน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ขอทวงถามความรับผิดชอบในจรรยาบรรณสื่อ “ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา” และ ไทยพีบีเอส
.
นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suphachai Jaismut ถามหาความรับผิดชอบจากนายสุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการ “คุยให้คิด” ทางสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส กล่าวหานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เป็นคนคัดค้านให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยมีเนื้อหาระบุว่า
.
เมื่อคืนวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมได้ชมรายการโทรทัศน์ไทยพีบีเอสชื่อ ”คุยให้คิด” จัดโดยนักหนังสือพิมพ์ระดับกูรู สุทธิชัย หยุ่น และผู้ร่วมจัดรายการอีกสองท่านซึ่งก็เป็นนักสื่อสารมวลชนระดับกูรูเช่นเดียวกัน ส่วนตัวผมรู้จักทั้งสามท่านดี แต่จากการดำเนินรายการคืนนั้น ผมเห็นว่าหากผมไม่ออกมาแสดงความเห็น และท้วงติงกับการดำเนินรายการนั้นในคืนนั้น จะมีประชาชนจำนวนมากที่ได้ชม และเชื่อตามสิ่งที่ผู้ดำเนินรายการกล่าว ก็จะเกิดความเข้าใจผิดและมีผลกระทบ ได้รับความเสียหาย จากการนำเสนอโดยข้อมูลที่เป็นเท็จโดยผู้ดำเนินรายการนั้น
.
และผมเห็นว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดำเนินรายการต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยการขอโทษ และเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะว่าความที่ตนนำเสนอไปนั้นไม่ตรงกับความจริง โดยหัวข้อที่ผู้ดำเนินรายการได้นำเสนอคือมีการกล่าวว่า ”นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีส่วนขัดขวางไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด 19”
.
ความจริงแล้วจากที่มีข่าวว่า นายอนุทิน เข้าพบนายก และแสดงความเห็นในเชิงไม่สนับสนุนให้ภาคเอกชน จัดหาวัคซีน เพราะถ้าเอกชนทำสำเร็จ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียคะแนนนิยม ซึ่งนายกฯ เชื่อตน จนกลายมาเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ในโลกโซเชียล
.
สิ่งที่ผู้ดำเนินรายการกล่าวในรายการเรื่องนี้ “ไม่เป็นความจริง” เพราะนายอนุทิน ไม่เคยพูด หน้าที่นายอนุทิน คือ จัดหาวัคซีนให้คนไทย รวมถึงผู้ที่ไม่ใช่คนไทย แต่ทำมาหากินภายในประเทศ
.
ส่วนเอกชนที่เข้ามาจัดหา ตนยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องวัคซีน เหลือย่อมดีกว่าขาด
.
นายอนุทิน เคยอยู่ภาคเอกชนมาก่อน เข้าใจความรู้สึกของภาคเอกชน เข้าใจว่าเอกชนมีความคล่องตัว และต้องการเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายรัฐรับฟังทุกข้อเสนอของเอกชน เอกชนรายไหนหาวัคซีนมาลงทะเบียนได้ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็พร้อมตรวจสอบ ขึ้นทะเบียนให้ทันที
.
“ปัญหาทั้งหมดมันเกิดมาจากเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุว่า รัฐบาลปฏิเสธเอกชน ที่ต้องการช่วยเหลือเรื่องการนำเข้าวัคซีน โดยเอกสารอ้างว่า เพราะรัฐบาลมีศักยภาพและความสามารถในการหาวัคซีนได้เพียงพอตามความเป้าแล้ว ซึ่งความเป็นจริง รัฐไม่เคยห้ามเอกชนเลย”
.
ย้อนกลับไปในวันที่ 28 เมษายน นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับภาคเอกชน ทั้งหอการค้า การธนาคาร และอุตสาหกรรม ได้ข้อสรุปว่า เปิดทางให้ภาคเอกชนจัดหาวัคซีนได้อย่างเต็มที่ รัฐไม่ปิดกั้น
.
แต่หากทำตรงส่วนนั้นไม่ได้ หาเข้ามาไม่ได้ ซึ่งรัฐ เปิดทางให้เจรจาแล้ว ขอให้เอกชนสนับสนุนในเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ใช้สถานที่ รวมไปถึงการนำพนักงานมารับบริการวัคซีน
.
ซึ่งในวันนั้น ทางนายกฯได้ถามนายอนุทิน ว่า หากภาคเอกชนสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้แล้ว ทางหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ก็ตอบไปว่าพร้อมอำนวยความสะดวกอย่างแน่นอน
.
เรื่องราวทั้งหมดมีเท่านี้ จากนั้น หลัง จากเอกสารฉบับแรกออกมาแล้ว และมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม จึงมีการออกเอกสารอีกฉบับหนึ่งมาชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ก็ดูจะสายเกินไป เพราะว่าเอกสารฉบับแรกได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม เหมือนกับทีนายอนุทินจะต้องออกมาอธิบายชี้แจงข้อเท็จจริง ในวันนี้ กับข่าวที่บอกว่า ตน ปฏิเสธการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดหาวัคซีน ซึ่งไม่เป็นความจริง
.
“ สิ่งที่นายอนุทินยืนยันก็คือ เหตุผลที่เอกชนยังไม่สามารถนำวัคซีนเข้ามาได้นั้น เนื่องจากว่าทางผู้ผลิตวัคซีน ยังระบุว่า การใช้วัคซีน เป็นไปภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และจะไม่รับผิดชอบหากเกิดผลกระทบใดๆ ตามมา ทางผู้ผลิตเห็นว่ามีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่สามารถเข้าไปรับผิดชอบตรงส่วนนี้แทนเอกชนได้ นี่จึงเป็นเหตุผล ที่ผู้ผลิต กำหนดให้เพียงรัฐบาลของแต่ละประเทศได้สิทธิ์ในการจัดหาวัคซีน”
.
สำหรับประเทศไทย กฎหมายของ สปสช. ระบุว่าหากใครก็ตามที่ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขจากทางภาครัฐ แล้วเกิดความเสียหาย ทางภาครัฐจะเข้าไปเยียวยาตามกฎหมายกำหนด
.
ในส่วนของความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนล่าสุดนั้นทางแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่าภายในเดือนมิถุนายน 2564 จะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ไทยได้ ในขณะที่ทางบริษัทไฟเซอร์ได้ส่งตัวแทนระดับผู้บริหารเข้ามาพูดคุยกับทางการไทยแล้ว โดยข้อมูลล่าสุด ไฟเซอร์ระบุว่า วัคซีนสามารถจัดเก็บในอุณหภูมิที่สูงขึ้น และสามารถฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ตอนนี้กำลังหารือ ในเรื่องของวันจัดส่ง ซึ่งทางไฟเซอร์ย้ำว่า จะหาทางทำให้ได้ตามที่ทางการไทยต้องการ การพูดคุยยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายอื่น ที่ไทยยังไม่ล้มเลิกความพยายาม
.
และนี่คือความจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับที่นายสุทธิชัย หยุ่น ได้นำเสนอ
.
ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยน ช่องทาง วิธีการ รูปแบบสื่อสารจะเปลี่ยนไปเช่นไร แต่สิ่งที่จะต้องดำรงอยู่คือจรรยาบรรณ และจะต้องเสนอแต่ความจริงเท่านั้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ”อาชีวปณิธาน” ของคนทำสื่อ ซึ่งนายสุทธิชัย หยุ่น ก็ยึดมั่นตลอดมาด้วยคำพูดที่ทุกคนจำได้ว่า ”ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา”
.
กรณีนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล อาจจะไม่ติดใจเอาความกับความเท็จที่นำเสนอให้ตนได้รับความเสียหาย แต่ผม และมวลสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เห็นว่านายสุทธิชัย หยุ่น และผู้ร่วมดำเนินรายการ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้
.