“จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรองนายกฯ โพสต์เฟสบุ๊ค โต้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หน.พรรคภูมิใจไทย ปมวัคซีน ไฟเซอร์ แนะรัฐบาลหาวัคซีนเพิ่มเติม ไม่ใช่ให้มีแค่ “ไฟเซอร์-ซิโนแวค” เพื่อให้ปประชาชน มีทางเลือก ป้องเสี่ยง อย่ากลัวเหลือ
วันที่ 28 เม.ย.2564 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาชี้แจงเป็นการใหญ่เรื่องวัคซีน Pfizer โดยมีสาระสำคัญ คือ กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยปฏิเสธ Pfizer อย่างที่ปรากฎเป็นข่าว ก่อนอื่นเลย ต้องบอกว่าที่ รมว.วสสาธารณสุข และ ผอ.สถาบันวัคซีนฯชี้แจงล่าสุดว่าไม่เคยปฏิเสธที่จะซื้อวัคซีนจาก Pfizer นั้นไม่จริงและย้อนแย้งกับที่ นายอนุทิน เคยพูดไว้อย่างขาวกับดำ แต่ก็มีการยอมรับว่ามีตัวเลขจำนวน 13 ล้านโด๊สอยู่ในการเตรียมการหารือระหว่าง Pfizer กับกระทรวงสาธารณสุข
ความจริง Pfizer เป็นวัคซีนยี่ห้อหนึ่งในหลายยี่ห้อที่มีคนตั้งคำถามว่าเหตุใดกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่พยายามหาทางซื้อมาใช้ในประเทศไทย ทำไมจึงผูกขาดอยู่เพียงสองยี่ห้อคือ AstraZeneca กับ Sinovac คำชี้แจงก็ดูจะแตกต่างหลากหลาย แต่ที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆก็คือตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวยและเราไม่มีผู้ติดเชื้อมาก
ข้อเท็จจริงที่ Pfizer มาติดต่อขายวัคซีนให้ไทยจึงเป็นการยืนยันว่าไม่ใช่ไม่มีใครสนใจจะขายวัคซีนให้รัฐบาลไทย และความจริงก็ไม่ใช่ยี่ห้อนี้ยี่ห้อเดียวที่มาติดต่อขายให้รัฐบาลไทย ถ้าติดตามการพูดคุยในเวทีต่างๆเช่นในคลับเฮาส์ที่บางครั้งรัฐมนตรีก็ร่วมคุยอยู่ด้วย รมว.สาธารณสุขเองก็ยอมรับว่ามีหลายบริษัทพยายามขายวัคซีนให้รัฐบาลไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น
เมื่อมีคนถามว่าทำไมประเทศไทยไม่ใช้ Pfizer และ Moderna (และยี่ห้ออื่นๆ) รัฐมนตรีก็ตอบไว้อย่างชัดเจนว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไม่ต้องการขายให้เอกชน เขาต้องการขายให้รัฐบาลโดยตรง ที่มีการเสนอให้องค์การเภสัชกรรมซื้อแล้วไปขายต่อให้เอกชน รัฐบาลก็ไม่มีนโยบาย เมื่อบริษัทผู้ผลิต(รวมทั้ง Pfizer และ Moderna) มาติดต่อขายวัคซีนให้รัฐบาล ก็บอกเขาไปว่ารัฐบาลมีเพียงพอแล้ว ให้ไปพยายามขายให้เอกชนหรือประชาชนเอาเอง
ดังนั้นที่ว่าไม่เคยปฏิเสธ Pfizer จึงไม่จริง และเรื่องราคาวัคซีนที่มาเสนอขายหรือเงื่อนไขในการจ่ายเงินก็ไม่ใช่ประเด็น จะถูกหรือแพงอย่างไรก็ไม่ซื้อเพราะมีพอแล้ว รมว.สาธารณสุขไม่มีนโยบายที่จะจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นใดนอกจาก 2 ยี่ห้อที่ตกลงไปแล้ว ยืนกระต่ายขาเดียวมาตลอด จะเห็นได้ว่าช่วงที่ตอบคำถามเรื่องมีวัคซีนพอหรือไม่ รมว.สาธารณสุขพูดถึงจำนวนวัคซีนที่จะฉีดให้ประชากรครึ่งหนึ่งโดยบอกว่าเพียงพอที่จะทำให้เกิดภูมิต้านทานหมู่แล้ว เอกชนจะไปให้ความร่วมมือก็บอกว่าไม่ต้องทำอะไร คอยช่วยประชาสัมพันธ์ก็แล้วกัน
การผูกขาดวัคซีนอยู่เพียงสองยี่ห้อ ไม่คิดจะซื้อหายี่ห้ออื่นใด ด้วยคิดว่าที่เตรียมไว้เพียงพอแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนใช้ช้าและน้อย กลายเป็นความเสียหายใหญ่หลวงต่อสุขภาพชีวิตประชาชนและต่อเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในปัจจุบันนี้ ถึงวันนี้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ประกอบอาชีพที่ต้องพบปะผู้คนอยู่เป็นประจำยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปซึ่งควรได้ฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มอายุอื่นก็กลับยังไม่มีวัคซีนจะฉีด ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นผลจากความผิดพลาดทางนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลโดยแท้ เข้าใจว่าที่ผ่านมาแม้แต่สถาบันวัคซีนฯก็ไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายผูกขาดวัคซีน
นายกฯ เพิ่งมาเปลี่ยนนโยบายเมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขึ้นๆ และปัญหาการแพร่ระบาดรอบที่สามหนักหน่วงขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการที่ไม่มีรัฐมนตรีสาธารณสุขอยู่ด้วยเพื่อพิจารณาหาวัคซีนเพิ่มและร่วมมือกับภาคเอกชน แต่เรื่องวัคซีนก็ยังไม่จบครับ นายกฯประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนเพิ่มให้ครบ 100 ล้านโด๊ส ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนหรือประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมด ดูจากตัวเลขก็สูงดี แต่ผมว่ายังมีปัญหา ยังไม่พอครับ
ล่าสุดเมื่อสองวันก่อน EU เพิ่งประกาศฟ้องร้อง AstraZeneca ที่ไม่ส่งวัคซีนให้ตามแผน เป็นคดีความกันอยู่ ขนาดบริษัทแม่ยังเจอปัญหาส่งวัคซีนไม่ทัน แล้วกระทรวงสาธารณสุขกับสถาบันวัคซีนฯจะแน่ใจได้อย่างไรว่าบริษัทที่รับมาผลิตในไทยซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีนนี้มาก่อนจะผลิตได้ราบรื่นตามแผนทุกประการ ถ้าหากมีปัญหาขึ้นมา ผลิตไม่ทันหรือมีผลข้างเคียงมาก จะทำอย่างไร ทางที่ดีรัฐบาลจึงควรหาทางจัดหาวัคซีนให้มากขึ้นไปอีกเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นและป้องกันความเสี่ยง ไม่ต้องกลัวว่าจะเหลือ เพราะวัคซีนยังเป็นที่ต้องการของประเทศต่างๆอีกมาก ถ้าเรามีวัคซีนเกินกว่าที่ต้องใช้ จะฉีดให้คนที่เข้ามาประเทศไทยหรือขายต่อให้ประเทศอื่นก็สามารถทำได้