เลขาฯพรรคประชาชาติ ชี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ที่ ครม.เตรียมนำเข้าสู่ รัฐสภา ต้องเป็นงบฯที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ ลับ-ลวง-พราง เพราะเป็นเงินของประชาชนทุกคน
วันที่ 23 เม.ย.2564 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวถึงงบประมาณปี 2565 ที่ คณะรัฐมนตรี จะนำเข้าสู่รัฐสภาว่า ได้มีการเผยแพร่ว่าตั้งงบประมาณไว้จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดจากปีงบประมาณปี 2564 ประมาณ 185,962 ล้านบาทเศษ โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท กู้ชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านล้านบาท ซึ่งการกู้เพิ่มจากปีก่อน ร้อยละ 14.95 งบประมาณปี 2565 มีหน่วยรับงบประมาณมากที่สุด ตั้งแต่การจัดงบประมาณ มา คือมีจำนวน 802 หน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ ส่วนราชการ 20 กระทรวง มีหน่วยรับงบประมาณในแต่ละกระทรวงรวมกัน 499 หน่วย รับงบประมาณ และ ท้องถิ่นได้แก่ กทม. อบจ เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง รวมกัน 303 หน่วย ยังไม่มีรายละเอียดของงบประมาณ เพียงแต่ติดตามจากการที่เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณในปีที่ผ่านมา มีข้อห่วงใยและข้อสังเกตเบื้องต้นในภาพรวม คือ
. “การหาเงิน” ปกติเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีคลังและกระทรวงการคลังเพื่อเป็นงบประมาณ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายรับจากรายได้แผ่นดินและรายรับจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล ที่น่าหวงคือเน้นกู้เงินผลักภาระให้ประชาชนเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเช่นในปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบประมาณไว้ 3,285,962ล้านบาทเศษ รัฐประมาณการจัดหารายได้ไว้ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท แต่ความจริงสุดท้ายรัฐหาได้เพียง 2,307,215 ล้านบาท ต่ำ กว่าประมาณการจำนวน 423,784 ล้านบาท จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลที่ตั้งไว้เดิม จำนวน 469,000 ล้านบาท ต้องกู้เงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น จำนวน 701,283.64 ล้านบาท กู้เงินสูงกว่าที่ประมาณการไว้
ที่ผ่านมารายรับรัฐมีความไม่แน่นอนสูงและในปีนี้เชื่อว่าการเก็บภาษีน่าจะน้อยกว่าที่ประมาณการไว้อีก รายได้แผ่นดินถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลมักปิดบังมีข้อมูลให้ศึกษาน้อยเกินไป ส่วนตัวมีข้อสังเกตจากการค้นหาเพิ่มเติม เช่น กรมสรรพากรที่เป็นหน่วยงานจัดเก็บมีรายได้เข้าประเทศมากที่สุด จะไม่มีข้อมูลการ “คืนภาษี” ที่งบประมาณไปใช้ได้ต้องหักเงินคืนภาษีก่อนหรือเป็นรายได้สุทธิ มีตัวเลขการคืนภาษีที่ผิดปกติ คือในปี พ.ศ. 2561 กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ 1,915,456 ล้านบาท แต่มีการหักเงินคืนมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลและอื่นๆ จำนวน 320,529 ล้านบาท จึงเหลือเงินที่จะใช้ได้สุทธิเพียง 1,636,683 ล้านบาท
แต่ในปี พ.ศ. 2563 จัดเก็บภาษีได้ 1,833,812 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนหน้าปี 61 ถึง 81,644 ล้านบาท มีการคืนภาษีมากถึง 374,244 ล้านบาท “เก็บภาษีได้น้อยแต่คืนภาษีมาก” กว่าปี พ.ศ.2561 ถึง 53,715 ล้านบาท เหลือเงินได้สุทธิเพียง 1,497,081 ล้านบาทเท่านั้น จึงเป็นประเด็นข้อสังเกตและข้อสงสัยทางสังคมที่รัฐต้องสร้างความโปร่งใสมีเอกสารให้ ตรวจสอบได้ด้วย
การจัดทำงบประมาณและการกำหนดตัวชี้วัด ตาม “ยุทธศาสตร์ชาติและแผ่นปฏิรูปประเทศ” ยังไม่สะท้อนการแก้ปัญหาของประเทศ และใช้งบประมาณในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด19 ยังจัดงบมุ่งความมั่นคงของรัฐ(บาล)ที่ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชนและชาติตามความเป็นจริง ไม่ความคุ้มค่าเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน ไม่มีการประเมินความคุ้มค่าจากผลลัพธ์ต่องบประมาณ ไม่มีการเปรียบเทียบความคุ้มค่าของแต่ละโครงการ ที่สำคัญผลการเบิกจ่ายของแต่ละหน่วยรับงบประมาณในปีที่ผ่านมาจะพบว่างบลงทุนจะจ่ายประมาณไม่ถึง 70% (ปีพ.ศ. 2563 งบลงทุนเบิกจ่ายเพียง 66%เท่านั้น) จะมีประมาณ 120,000-200,000 ล้านบาทเบิกจ่ายไม่ทัน
ตามหลักการต้องคืนเงินที่เหลือให้กับแผ่นดินไม่สามารถนำไปใช้ได้ แต่รัฐได้อ้างข้อยกเว้นที่ขออนุญาตกระทรวงการคลังหรือเทคนิคที่ยากต่อการตรวจสอบไม่ยอมคืนเงินส่วนนี้กลับเป็นของแผ่นดิน แสดงถึงการขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดงบประมาณรวมศูนย์ที่ส่วนกลางเพียง “มอบงาน ไม่มอบอำนาจ” ให้ส่วนภูมิภาค งานซ้ำซ้อนกับท้องถิ่นที่รู้ปัญหาความต้องการของชุมชนท้องถิ่นดี พบว่างบประมาณที่ไปภูมิภาคจึงใช้สร้างสำนักงานเขตพื้นที่จำนวนมาก ผิดหลักการบริหาร สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะเป็นหน่วยงานวิชาการหรือหน่วยประสานราชการ มิใช่หน่วยปฏิบัติจึงไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ การจ่ายงบบุคลากรบุคคลกรและเป็นงบดำเนินการสูง ไม่มีหน่วยงานอิสระที่เป็นกลางประเมินผลความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์จริงหรือไม่